ตำรวจจับทนายอานนท์-ไมค์ ระยอง ฐานชุมนุมไล่รัฐบาล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.08.07
กรุงเทพฯ
200807-TH-protest-arrest-1000.jpg นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้นำการชุมนุม ปราศรัยต่อต้านรัฐบาล ขณะถูกจับกุม เดินทางถึงสถานีตำรวจ ในกรุงเทพ วันที่ 7 สิงหาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นักเคลื่อนไหวชาวจังหวัดระยอง จากกรณีที่ทั้งคู่ร่วมปราศรัยในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในหลายเวที อย่างไรก็ตาม ศาลไม่รับคำร้องขอฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ตำรวจพาตัวทั้งคู่ไปขังที่ สน.ห้วยขวาง

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยว่า ปัจจุบัน มีผู้ต้องหาในคดีชุมนุมเดียวกับทนายอานนท์ 31 ราย

นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ว่า  ตนเองโดนจับกุมตัว ตามหมายจับของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) สำราญราษฎร์

“ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” ตอนหนึ่งของข้อหาที่นายอานนท์ ถูกแจ้งความ

“ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหน้าที่หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย.. ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ตอนหนึ่งของหมายจับ ซึ่งลงชื่อโดย พ.ต.ท.หญิง จิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ระบุ

ต่อมานายอานนท์ และ นายภานุพงศ์ จาดนอก ถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สน. สำราญราษฎร์ ก่อนจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง ที่ สน.บางเขน การดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้กลุ่มประชาชนปลดแอกนัดรวมตัวกันที่ สน.บางเขน ในเวลา 18.00 น. โดยได้จัดการชุมนุมและปราศรัย ต่อเนื่องโดยยืนยันว่าจะไม่ยอมยุติการชุมนุมจนกว่า นายอานนท์ และนายภานุพงษ์จะได้รับการปล่อยตัว แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำหนังสือระบุว่า จะสามารถให้ชุมนุมได้ถึงแค่เวลา 20.00 น. มิเช่นนั้นจะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

“วันนี้กระบวนการยุติธรรมไทย ไม่ต้องไปศรัทธาอีกต่อไป วันนี้สิ่งสำคัญเราจะยืนหยัดกันที่นี่ จนกว่าจะเห็นอานนท์ และไมค์” นายธัชพงษ์ แกดำ หนึ่งในผู้ปราศรัยกล่าว ที่หน้า สน.บางเขน

ทั้งนี้ เบนาร์นิวส์ติดต่อไปยัง พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กำกับการ สน. สำราญราษฎร์ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่ พ.ต.อ.อิทธิพล ไม่รับสาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขนไม่อนุญาตให้ประชาชน รวมถึงผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ เข้าไปภายในอาคาร เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคดีของนายอานนท์ และนายภานุพงศ์

ต่อมา ศาลอาญามีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องขอฝากขัง นายอานนท์ และนายภานุพงษ์ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันจะนำตัวทั้งคู่ไปขัง ที่ สน.ห้วยขวาง โดยทั้งคู่ได้ขัดขืนเนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจคุมตัวแล้ว ขณะที่ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาชี้ว่า ตำรวจยังมีอำนาจควบคุมตัวคนทั้งคู่ แม้ศาลไม่ออกหมายขัง

นายวีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในกรณีเดียวกับนายอานนท์ 31 ราย ในฐานความผิด 8 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 2. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4. พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตราย หรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 5. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

6. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท 7. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท และ 8. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ทั้งนี้ การออกหมายจับดังกล่าว สืบเนื่องจากการชุมนุมของประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา เริ่มขึ้นครั้งแรกโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งการชุมนุมครั้งแรกมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 2 พันคน

และเกิดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันต่อมา ในหลายจังหวัด และหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยในแต่ละที่มีประชาชนเข้าร่วมหลายร้อยคน และใช้ข้อเรียกร้องเดียวกันกับ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ต่อมาการกลุ่มจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้รวมกันในนาม ประชาชนปลดแอก โดยยึดข้อเรียกร้องสามข้อเดิม

ต่อมา นายอานนท์ ได้ขึ้นกล่าวปราศรัย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ริมถนนราชดำเนิน บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

“พวกเรามีระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจล้นเกินไปกว่าที่ระบอบอนุญาต แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันอย่างจริงจัง และทุกคนต้องพูดให้เป็นสาธารณะและพูดด้วยความเคารพในระบบ เคารพต่อสถาบัน ถ้าไม่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ การพูดเช่นนี้ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้องชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติม

โดยในการชุมนุมวันดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นาย เฝ้าสังเกตการณ์ และ กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มมอกะเสด และประชาชนผู้ร่วมชุมนุม

ซึ่งในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า พร้อมที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ รับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกัน เป็นห่วงผู้ชุมนุมเยาวชน

“ผมจะให้พรรคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกัน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอสภาควบคู่กันไป ผมยืนยันอย่างนี้ เพราะคือกลไกที่ถูกต้อง ขอร้องว่าอย่าให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมากนักเลย ในเวลานี้ เพราะเรากำลังแก้ปัญหาหลายอย่างด้วยกัน… ห่วงเด็ก ๆ นะ ผมก็ให้แนวทางไปแล้วว่าจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนให้มากยิ่งขึ้นนะ คนรุ่นใหม่นะ ให้เขารู้ว่าเขาอยากได้อนาคตอย่างไร เราก็จะฟังเขาภายในเดือนนี้แหละ จะเปิดเวทีให้มากขึ้น ก็เวทีการพูดคุยพบปะหารือกัน จะชุมนุมอะไรก็ว่ากันไป สิทธิตามกฎหมายก็ว่ากันไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

หลังการคุมตัวนายอานนท์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

“หลังที่ต้องเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามมาหลายเดือน ในตอนนี้ทนายอานนท์และไมค์ ภานุพงศ์ ยังจะต้องถูกดำเนินคดี ในข้อหาอาญาร้ายแรงถึง 8 ข้อกล่าวหา เพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ นอกจากจะต้องถอนข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริงเช่นนี้แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องทางการไทยให้การประกันว่าจะมีการคุ้มครอง รักษาความมั่นคงปลอดภัย ไม่ให้มีการตอบโต้เอาคืนกับบุคคลใดก็ตาม ซึ่งมีชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา” ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ กล่าวผ่านแถลงการณ์

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง