ไผ่ ดาวดิน และผู้ชุมนุมรวม 21 คน ถูกจับขณะเตรียมชุมนุมใหญ่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.10.13
กรุงเทพฯ
201013-TH-protesters-detained-1000.jpg นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถขนผู้ต้องหา ก่อนถูกนำตัวไปไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ในจังหวัดปทุมธานี พร้อมเพื่อนผู้ร่วมชุมนุมอีกยี่สิบคน วันที่ 13 ตุลาคม 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพวกรวม 21 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวที่ใกล้ร้านแมคโดนัลด์ ข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในขณะที่ทางกลุ่มเตรียมการสำหรับการร่วมชุมนุมใหญ่กับ “คณะราษฎร” ในวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้ โดยทั้งหมดถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ในจังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกแถลงข่าวชี้แจงเหตุผลในการจับกุมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นจะต้องจัดระเบียบความปลอดภัย โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำผิดของกลุ่มดังกล่าว เกิดขึ้นในพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเจ้าพนักงานได้ตั้งข้อหา ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา 368  มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตาม ป.อาญา มาตรา 215 และอีก 6 ข้อหาย่อย

ในช่วงบ่ายวันอังคาร นายจตุภัทร นักศึกษา และประชาชนหลายสิบคน ซึ่งเดินทางมายังถนนราชดำเนิน บริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้กางเต็นท์และจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการชุมนุม ในวันพุธนี้ โดยมีรถยนต์ติดเครื่องกระจายเสียงสำหรับปราศัยมาด้วย ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าเจรจาเพื่อขอคืนพื้นที่จราจร กระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้กระชับวงล้อม และจับกุมผู้ชุมนุมบางคน รวมถึง นายจตุภัทร ขึ้นรถตำรวจและนำตัวออกจากพื้นที่ไป ซึ่งในระหว่างนั้นกลุ่มนักศึกษาได้สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

“ตอนนี้พวกเราอยู่ที่ ตชด. ภาค 1 เขาเอาพวกเรามาไว้ที่นี่… ไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาพาเรามาที่นี่ ไกลมาก น่าจะเป็นที่นี่ที่ที่เขาเอาเรามาไว้ ไม่เป็นไร พวกเรายืนหยัดได้ ออกมาสู้ร่วมกัน ออกมาเถอะ ออกมาทำหน้าที่แทนพวกเรา” นายจตุภัทร เปิดเผยผ่านการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊ก ขณะที่ถูกลำเลียงไปยังที่ตั้งกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

หลังจากการควบคุมตัวผู้ชุมนุมรวม 21 ราย ผู้ชุมนุมที่เหลืออยู่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการตะโกนเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” เป็นระยะ ๆ ขณะที่ขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เคลื่อนผ่าน โดยหลังจากนั้นในเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ชุมนุมได้ประกาศว่า มีการนัดชุมนุมฉุกเฉินที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และบางส่วนได้ใช้รถยนต์เคลื่อนออกจากพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมประชาชนเนื่องจากเห็นว่า มีการกระทำผิดกฎหมาย

“มีการควบคุมตัวแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมนุมสาธารณะฯ ไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน และมีการกระทำผิดกฎหมายในฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวส่ง พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

โดย กองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า ผู้ต้องหาทั้ง 21 คน ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาความผิดอันประกอบด้วย  1. ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ป.อาญา ม.368  2. มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปสร้างความวุ่นวาย ป.อาญา ม.215  3. กีดขวางการจราจร พ.ร.บ.จราจร ม.114 และ 148  4. ตั้งวางวัตถุบนถนนสาธารณะ พ.ร.บ.ความสะอาด ม.19, 32, 39 และ 40  5. สาดสีบนถนน พ.ร.บ.ความสะอาด ม.12  6. กีดขวางทางสาธารณะ ป.อาญา ม. 385  7. สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ ป.อาญา ม. 358 และ  8. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.โฆษณา ม.4 และ ม.9

ในเวลาทุ่มครึ่ง นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวทางเฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่หน้า ตชด. ภาค 1 ยังไม่ให้ทนายความเข้าไปพบผู้ชุมนุม 21 คน แต่อย่างใด โดยขณะเดียวกันกลุ่มนักศึกษา-ประชาชน ได้ไปชุมนุมกันที่หอศิลป์ฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว แต่ได้ยุติการเคลื่อนไหวลงในเวลาสามทุ่ม

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกแถลงการณ์ในวันนี้ ขอให้รัฐบาลปล่อยตัวกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสงบ โดยทันที และปราศจากเงื่อนไข

“การที่รัฐบาลไทยสลายการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพฯ เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้ประท้วง” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว “ควรยกเลิกข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้ประท้วงและควรปล่อยตัวพวกเขาทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข”

“การจับกุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อความกังวลอย่างมาก ว่ารัฐบาลจะกำหนดให้มีการปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ในประเทศไทย รุนแรงยิ่งขึ้น” นายแบรด กล่าว “พันธมิตรระหว่างประเทศของไทยควรเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการจับกุมผู้ประท้วงอย่างสงบ รับฟังความคิดเห็นของพวกเขา และเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงวิสัยทัศน์อย่างเสรีและปลอดภัยในอนาคต”

ทั้งนี้ ในการเตรียมการชุมนุมใหญ่ ในนาม “คณะราษฎร” ในวันพรุ่งนี้ แกนนำการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ได้ประกาศการก่อกำเนิดของ “คณะราษฎร” อีกครั้ง และได้ประกาศข้อเรียกร้อง ดังนี้ “1. ประยุทธ์ต้องออกไปจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. เปิดประชุมวิสามัญทันที เพื่อรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นำสถาบันกษัตริย์กลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง”

โดยการชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากการชุมนุมในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งผู้ชุมนุมได้ถวายหนังสือต่อในหลวง รัชกาลที่ 10 ถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และปักหมุดคณะราษฎรใหม่ที่ท้องสนามหลวง

กระแสการชุมนุมของประชาชนระลอกนี้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดย  “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นการชุมนุมครั้งแรก หลังโควิด-19 ระบาด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกัน ในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยสถิติที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมว่า นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรก ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมอย่างน้อย 246 ครั้ง ใน 62 จังหวัด มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างน้อย 65 ราย ใน 23 คดี โดยมีถึง 33 รายที่ยังเป็นนักศึกษา มีเจ้าหน้าที่ติดตามและคุกคามผู้ร่วมชุมนุมถึงบ้านหรือสถานศึกษาอย่างน้อย 145 ครั้ง และมีผู้ที่เผยแพร่หรือเขียนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ลงบนโซเชียลมีเดีย และถูกคุกคามอย่างน้อย 34 ราย

ประชาชนเดินทางไปสนามหลวงร่วมน้อมระลึกถึงในหลวง ร. 9

บริเวณท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง รัฐบาลได้มีการประดับประดาตกแต่งพื้นที่ สำหรับให้ประชาชนน้อมรำลึกเนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรณคตของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยระหว่างวันได้มีประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลืองและเดินทางมาร่วมงานเป็นระยะๆ แม้จะมีสายฝนโปรยปรายตลอดทั้งวัน

นางศิริวรรณ์ บันธิ อายุ 63 ปี อดีตช่างเย็บผ้า ชาวเชียงราย หนึ่งในผู้ร่วมระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า มาร่วมงานเพื่อระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพ

“เราอยู่ในรัชกาลของท่าน เกิดในรัชกาลของท่าน นับถือมากเลย ใจเรายังคิดถึงท่านอยู่ ยังอาลัยหาท่านอยู่ไม่เคยลืม ถ้ามีงานอะไรที่เกี่ยวกับในหลวง หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วเราอยู่ใกล้เราก็จะมาทุกงาน มีอะไรเกี่ยวกับในหลวง เราก็เก็บรักษาไว้ ถนอมไว้ ใครมาขอซื้อเราก็ไม่ขาย” นางศิริวรรณ์ กล่าว

ขณะที่ นายวรสิทธิ์ รัตนสิทธิโรจน์ อายุ 70 ปี อดีตครูชาวจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ร่วมงานระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ต้องการเดินทางมาร่วมงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

“ระลึกถึงพระองค์ท่าน เพราะพระองค์ท่านเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประชาชน ตลอด 70 ปี ซึ่งคนแบบนี้หายากมาก ยังไงก็ต้องมา ต้องมาให้ได้เพราะเป็นวันคล้ายวันสวรรคตท่าน มาแล้วก็ถือว่าเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระลึกถึงท่าน” นายวรสิทธิ์ กล่าว

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงานช่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง