ผู้ชุมนุมบาดเจ็บกว่า 40 รายจากการปะทะ บริเวณหน้ารัฐสภา
2020.11.17
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎร” ไม่ให้เดินทางไปชุมนุมกันที่บริเวณรัฐสภา ขณะที่สมาชิกรัฐสภา กำลังอภิปรายในการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนอกจากนั้น ฝ่ายราษฎรยังได้ปะทะกับกลุ่มเสื้อเหลืองที่มาสนับสนุนรัฐสภาอีกด้วย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมกว่า 40 ราย
ในช่วงบ่ายของวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ราษฎร นัดชุมนุมกันบริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อกดดันให้สมาชิกรัฐสภายอมรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตราและปฏิรูปสถาบัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศเขตห้ามชุมนุมบริเวณ 50 เมตร และได้ตั้งแนวกีดขวาง เช่น รถเมล์ แท่งคอนกรีต แนวลวดหนาม กั้นหลายชั้น เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้าไปยังบริเวณหน้ารัฐสภาได้
เหตุชุลมุนเกิดขึ้นเมื่อการ์ดของผู้ชุมนุมพยายามรื้อรั้วลวดหนาม และฝ่าแนวกีดขวาง ตำรวจจึงได้เริ่มฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อเป็นการเตือน เมื่อการ์ดยังไม่ได้หยุดรื้อลวดหนาม เจ้าหน้าที่จึงได้ฉีดน้ำผสมสารเคมีผสมสีมีกลิ่นคล้ายแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม พร้อมส่งเสียงเตือนว่า หากยังไม่หยุดการกระทำจะใช้กระสุนยาง
นางสาว ชลธิชา แจ้งเร็ว หนึ่งในแกนนำให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐทีวี ระบุว่า ผู้ชุมนุมเพียงต้องการมากดดัน เพื่อให้รัฐสภายอมรับร่างไอลอว์ แต่รู้สึกผิดหวังที่เจ้าหน้าที่พยายามใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม
“ยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเช้าที่เห็นภาพ เมื่อทีมเสื้อเหลือง สามารถเข้าไปสู่พื้นที่นั้นได้ ทำไมเราทั้งที่เป็นผู้เห็นต่างทำกับเราแบบนี้ ทั้งที่ถือกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำไมไม่ฟังคนเห็นต่างบ้าง วันนี้เห็นชัดแล้วว่ามันสองมาตรฐาน เพราะพวกเราต้องการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ” นางสาวชลธิชา กล่าว
ในช่วงเช้าวันเดียวกัน นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี นัดหมายมวลชนยื่นหนังสือถือประธานวุฒิสภา คัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะจากไอลอว์ มองว่าเป็นร่างที่จะสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ เป็นร่างที่สมคบกับต่างชาติ เข้ามาครอบงำประเทศไทย เพื่อล้มล้างระบอบการปกครอง และอาจจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์เลยก็ได้
“ร่าง ไอลอว์ นี่ชัดเจน คือ เป็นร่างเพื่อรอเป็นขี้ข้าต่างชาติ เพราะในโครงสร้างของร่าง เอาคนที่เป็น สสร. ที่คนติดยา ติดคุก คนที่ห้ามยุ่งการเมืองมาเป็น สสร. ได้หมด เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าเขาจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันนี้ถือว่าอันตรายมาก ถือว่าเป็นการล้มล้างแผ่นดิน ร่างนี้” หมอวรงค์ กล่าว
นพ. วรงค์ ระบุด้วยว่า ตนจะไปยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดต่อในช่วงบ่าย แต่มวลชนผู้สวมใส่เสื้อเหลืองยังคงชุมนุมปักหลักปราศรัยคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ บริเวณแยกเกียกกาย ไม่ไกลจากกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร ที่กำลังฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้ามา
จนกระทั่งช่วงเย็น เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร สามารถฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้ามาบริเวณแยกเกียกกาย กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มได้มีการเผชิญหน้ากันและเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร และกลุ่มคนเสื้อเหลืองปกป้องสถาบันบริเวณแยกเกียกกาย ทั้งสองฝ่ายต่างขว้างปาสิ่งของ ขวดแก้ว อิฐ ใส่กันด้วยความโกรธเกรี้ยว เมื่อประมาณเวลาสองทุ่ม ได้เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและกลุ่มเสื้อเหลือง มีเสียงปืนดังขึ้น โดยฝ่ายผู้จัดการชุมนุมระบุว่า มีคนเสื้อเหลืองยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม ได้รับบาดเจ็บ โดยศูนย์แพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ รายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 41 ราย ตามโรงพยาบาลดังต่อไปนี้ รพ.วชิรพยาบาล 37 ราย รพ.รามา 1 ราย รพ.พระราม 9 จำนวน 2 ราย รพ.เพชรเวช 1 ราย
รัฐสภา ได้มีการร่วมพิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในวันอังคารนี้ รัฐสภา ได้มีการร่วมพิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... รวม 7 ฉบับ ซึ่งพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และไอลอว์ เป็นผู้เสนอ และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รวบรวมไว้เพื่อพิจารณา โดยสมาชิกรัฐสภาได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ว่า มีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสถาบันและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน
ทั้งนี้ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช วุฒิสมาชิก ได้กล่าวอภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ไม่ได้กำหนดในการห้ามการแก้ไขหมวดที่หนึ่ง และหมวดที่สองที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
“ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการกระทำและพฤติกรรมที่ล่วงละเมิด จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแต่ละวัน โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพและเทิดทูนของคนไทยทั้งประเทศ จึงควรมีข้อกำหนดการแก้ไขในหมวดนี้ไว้ด้วยเช่นเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่หนึ่ง และฉบับที่สอง” พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวอภิปราย
“มีผู้คนมากมายฝากมาถามคณะผู้ริเริ่มว่า การที่ไม่กำหนดไว้มีเจตนาที่ต้องการแก้ไขอะไรในหมวดนี้ ก็อยากจะได้คำตอบ” พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
นายนิยม เวชกามา ส.ส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดสกลนคร แย้งว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ไม่ได้ระบุว่าจะแก้ไขหมวดที่หนึ่งและสองของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“ผมนั่งอ่านร่างของไอลอว์ การแก้ไขหมวดหนึ่ง หมวดสองไม่มี... อย่าเพิ่งวิตกจริตในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น” นายนิยม กล่าวแย้ง
ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ตนในฐานะที่เคยเป็นเอ็นจีโอมาก่อน ไม่ได้คลางแคลงใจต่อไอลอว์ที่รับเงินอุดหนุนต่างชาติ และมีความยินดีที่ได้รับฟัง แต่ต้องไม่มีการแตะหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
“ผมมั่นใจว่าสิ่งที่เราจะมีเกิดขึ้นแน่ ก็คือ การที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยการแก้มาตรา 256 ให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะไม่มีการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมวดหนึ่ง หมวดสอง เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดยืนของภูมิใจไทยด้วยครับ เรายืนยันมาตลอด เราพร้อมที่จะแก้รัฐธรรมนูญ แต่ขอท่านอย่าไปแตะตรงนั้น” นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
ในเวลาประมาณสามทุ่ม นายอานนท์ นำภา ได้กล่าวแก่กลุ่มผู้ประท้วงที่หน้ารัฐสภาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ยอมปรับตัวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังจากที่ตั้งแต่บ่ายวันนี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตายิงใส่ผู้ประท้วง รวมทั้งเกิดการปะทะกันกับ กลุ่มไทยภักดี และในตอนค่ำ ได้มีการใช้ระเบิดปิงปอง จนทำให้ฝ่ายผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม
“เรามาเพื่อย้ำเตือนว่า รัฐสภาเป็นของราษฎรทุกคน ไม่ใช่ของ ส.ส. ส.ว. ไม่ใช่ของชวน หลีกภัย ไม่แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยมีมาก่อนที่ราษฎรจะลุกขึ้นสันหลังตรงตั้งฉากกับแผ่นดินแบบนี้” นายอานนท์ กล่าว
“เราได้ยื่นข้อเสนอให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ยอมปรับตัวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เขาพยายามจะใส่ร้ายพวกเรา ว่าเป็นพวกจาบจ้วง ล้มเจ้า ผมขอยืนยันว่า เราต้องการปฎิรูปจริง ๆ วันไหนเราไม่ปฏิรูป เราจะปฏิวัติ เมื่อสักครู่มีการปาระเบิดปิงปองเพื่อนเราเจ็บไป 5 คน การ์ดเจ็บไป 7 คน มีพี่น้องเราคนนึงถูกยิงที่ขา นี่คือสัญญาณว่า ท่านไม่เห็นหัวเราใช่หรือไม่ ต่อไปนี้ไม่มีการประนีประนอมทั้งสิ้น” นายอานนท์ กล่าวก่อนที่ผู้ชุมนุมจะสลายตัว โดยได้นัดชุมนุมอีกครั้งในเวลาสี่โมงเย็นของวันพุธ ซึ่งทางรัฐสภาจะโหวตรับ หรือไม่รับหลักการ