“ราษฎร” ชุมนุมย่านราชประสงค์ หลังจากมีผู้ถูกยิง 6 ราย วานนี้

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.11.18
กรุงเทพฯ
201118-TH-protesters-1000.jpg ผู้ชุมนุมคณะราษฎรระดมฉีดน้ำใส่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เพื่อตอบโต้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้รถฉีดน้ำและแก๊สน้ำตา สลายการชุมนุมวานนี้ กรุงเทพฯ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ กลุ่มราษฎรหลายพันคนชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐบาล แม้ว่าในการประท้วงที่รัฐสภาเมื่อวานนี้ จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 55 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้ถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายรวม 6 ราย

และในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สองฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ภาคประชาชนที่เสนอโดยองค์กรไอลอว์นั้นต้องตกไป เพราะได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม

ในเวลาสี่โมงเย็นในวันนี้ ในขณะที่รัฐสภากำลังนับคะแนนการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทางกลุ่มราษฎร ที่มีแกนนำ เช่น นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ชุมนุมกัน เพื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่เสนอโดยองค์กรไอลอว์

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้เราปฎิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยได้” นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคณะราษฎร กล่าว พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้เดินทางมายังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประท้วงการใช้แก๊สน้ำตาสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันเดินไปที่รัฐสภาเมื่อวานนี้ และยังมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองที่มาสนับสนุนรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุมราษฎรอีกด้วย

กลุ่มผู้ประท้วงได้ฉีดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฉีดน้ำข้ามรั้ว พร้อมทั้งตะโกนด่าทอตำรวจ ก่อนสลายตัวไป โดยแกนนำได้ประกาศว่า จะชุมนุมที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ และจะชุมนุมต่อเนื่องในช่วงนี้เป็นเวลา 7 วัน

ในวันเดียวกันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ตนเองติดตามการประท้วงที่มีความรุนแรงที่เกิดขึ้น และต้องมีความเข้มงวดในการใช้กฎหมายมากขึ้น

“ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องมากขึ้น ผมเคยประกาศแล้วว่าต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงใส่กัน มันมีประจักษ์พยานชัดเจน ตำรวจกำลังดำเนินการอยู่ตรวจพิสูจน์อีกครั้งหนึ่ง ขอให้เข้าใจสถานการณ์ด้วยว่าสถานการณ์มันอาจจะมีการบังคับใช้กฎหมาย มันอาจจะทำไม่ได้ ในขณะที่มีการชุมุนม คนจำนวนเยอะ ๆ แต่หลังจากนั้น กฎหมายมันตามได้ทุกคนแหละที่ทำความผิด ไม่ว่าจะใครก็ตาม” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

มีผู้ถูกยิงทั้งสองฝ่าย รวม 6 ราย

ในวันพุธนี้ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ประท้วงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รวม 55 ราย โดยระบุข้อมูลว่า บาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา 32 คน ถูกยิง 6 คน มีอาการป่วยขณะชุมนุม 4 คน  และบาดเจ็บอื่น ๆ 13 คน

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวในการแถลงข่าวในวันพุธนี้ว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 55 ราย เป็นทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองที่มาสนับสนุนรัฐบาล ฝ่ายผู้ชุมนุมราษฎร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยปรากฏว่า มีการใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย

“มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายมวลชนภาคประชาชาชน เข้าพักรักษาตัวที่ รพ.ราชวิถี โดนยิงที่สะโพกขวา ขณะเดียวกันที่ฝ่ายราษฎร ก็ได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ต้นขาซ้ายเช่นเดียวกัน พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.วชิระ ส่วนโรงพยาบาลอื่น อยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบว่าได้รับบาดเจ็บเพราะอะไร อย่างไรข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คือ มีผู้ถูกกระสุนทั้งสองราย และเป็นคนทั้งสองกลุ่ม” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงอยู่

“ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน จริง ๆ แล้วการใช้อาวุธที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นจากผู้ชุมนุมหรือไม่อย่างไร เรายังไม่ทราบ หรืออาจจะเกิดจากชุมชน ประชาชนในวัดใหม่ทองเสนไม่พอใจ แล้วมีการยิงหรือประทุษร้าย เราก็ยังไม่ทราบ อยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนต่อไป” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวเพิ่มเติม และระบุว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บยังไม่อยู่ในอาการที่สามารถให้ปากคำได้

ทั้งนี้ พล.ต.ต.ปิยะ ระบุว่า ในเวลา 20.15 น. มีควันไฟเกิดขึ้นที่รถประจำทางคันหนึ่งในพื้นนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและดับเพลิงได้เข้าไปพิสูจน์ทราบและแก้ไขปัญหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจถอนตัวออกมาหลังตรวจสอบแล้ว กลับมีกลุ่มมวลชนพยายามล้ำเข้าไปในแนวถนนทหาร และมีความพยายามทำร้ายร่างกายกลุ่มมวลชนที่ถนนทหาร รวมทั้ง พยายามบุกรุกเข้าไปถึงทางเข้าชุมชนวัดใหม่ทองเสน ซึ่งมีระยะทางไกลจากแนวรั้วประมาณ 300 เมตร และมีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้น

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการปะทะครั้งแรกระหว่างฝ่ายมวลชนภาคประชาชาชน และฝ่ายผู้ชุมนุมราษฎร เมื่อหลังห้าโมงเย็น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องถอนตัวออกมา เพราะไม่สามารถใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนที่ปะทะกันได้

สภาโหวตค้านร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์

ทั้งนี้ ในการลงคะแนนเสียงรายบุคคลอย่างเปิดเผย ที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า มีสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนเสียงเห็นชอบต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของไอลอว์ 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 139 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม คือ 366 เสียง ขณะที่ในจำนวนเสียง 366 เสียงนั้น ต้องเป็นคะแนนจากวุฒิสมาชิก 82 เสียง

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของพรรคฝ่ายค้าน ที่เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 576 เสียง ไม่เห็นด้วย 21 เสียง งดออกเสียง 123 เสียง ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอโดย นายวิรัตน์ รัตนเศรษฐ ส.ส. พลังประชารัฐ มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 647 เสียง ไม่เห็นด้วย 17 เสียง งดออกเสียง 55 เสียง

ในส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ถึง 6 ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมรายมาตรา และเสนอโดยผู้นำฝ่ายค้านและคณะนั้น ได้คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

จากนั้น นายชวน หลีกภัย ได้ขอเสียงสมาชิกรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล รวมทั้ง ส.ว. 45 คน เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ สองฉบับที่ผ่านการลงมติในวันนี้ โดยใช้ฉบับของฝ่ายรัฐบาลเป็นหลัก ขณะที่เจ้าหน้าที่สภาฯ กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ได้ด้วย แล้วนำร่างแก้ไขที่ได้มาลงมติในสภา ในวาระที่สามอีกครั้ง และต้องผ่านการลงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของพรรคฝ่ายค้าน ระบุว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน ต้องมาจากการเลือกตั้งจากทุกจังหวัดตามสัดส่วนประชากร นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสมาชิก และยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นต้น

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอโดยนายวิรัตน์ รัตนเศรษฐ ส.ส. พลังประชารัฐ นั้น ระบุว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และอีก 50 มาจากการคัดสรรจากกลุ่มต่าง ๆ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และห้ามแก้ไขหมวดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นหมวดทั่วไปเกี่ยวกับการปกครองของประเทศ และหมวดสอง ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

ในส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของไอลอว์นั้น สมาชิกรัฐสภาผู้ที่ไม่เห็นด้วย ระบุว่า มีวาระต้องการแก้ไขหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

“คณะราษฎรอยากปฏิรูปประเทศ แต่ดันไปเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่ออะไร? ประเทศท่านไม่ปฏิรูป แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านดีอยู่แล้ว ท่านจะไปยุ่งกับท่านทำไม? ที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่ท่านเสนอ ให้ตั้ง สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่เว้น แก้ได้ทุกเรื่อง ท่านต้องการอะไร?” นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. พลังประชารัฐ กล่าว

นอกจากนั้น นายสมชาย แสวงการ วุฒิสมาชิก ระบุว่า การรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขององค์กรไอลอว์ ซึ่งรับเงินทุนมาจากองค์กรต่าง ๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีความผิด มาตรา 74 พระราชบัญญัติพรรคการเมือง ที่ห้ามรับเงินจากนิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย

ทางด้าน นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวแย้งว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของไอลอว์จะล้มสถาบันนั้น ไม่เป็นความจริง

“เหตุผลที่บอกว่า (ร่างไอลอว์) ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ การที่ไม่บัญญัติไว้ว่า หน้าที่และอำนาจ สสร. เมื่อตั้งไปแล้ว ห้ามแก้ไขหมวด 1-2 พอไม่เขียนไว้ ก็ว่าล้มสถาบันฯ ไปเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จริงเหรอ ผมใช้คำว่าเป็น มายาคติ สร้างภาพหลอกกัน เพื่อทำลายทำร้ายกันโดยไม่มีเหตุและไม่มีผล” นายชลน่าน กล่าว

 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง