กลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวมพลใหม่ย่านราชประสงค์
2020.10.15
กรุงเทพฯ
ปรับปรุงข้อมูล เวลา 13.45 ET 2020-10-15
กลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายพันคนรวมตัวกันอีกครั้งที่ย่านราชประสงค์ ในตอนเย็นของวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สลายการชุมนุมที่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาลไปเมื่อตอนเช้า โดยรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วจับกุมตัวแกนนำการชุมนุมรายสำคัญ 4 ราย และผู้ร่วมชุมนุมประท้วงรวมเป็นจำนวน 22 ราย เพื่อดำเนินคดีในฐานยุยงปลุกปั่น หรือในฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
แกนนำการประท้วงที่ยังไม่โดนจับกุมตัว ได้แก่ นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์ ระยอง) นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว (ลูกเกด) และนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี (ฟอร์ด) เป็นต้น ได้เป็นแกนนำการชุมนุม โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ตะโกนเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 และขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผู้ชุมนุมเรือนหมื่นกระจายตัวเต็มแยกราชประสงค์ ล้นไปถึงหน้าห้างอัมรินทร์พลาซาและเซ็นทรัลเวิร์ล มีการสลับกันขึ้นปราศรัยโดยแกนนำบนรถกระบะ โจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังที่แยกชิดลม และข้างศาลพระพรหมเอราวัณ มีการประกาศเป็นระยะให้ประชาชนยุติการชุมนุม และการฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉินมีโทษ ทั้งยังเคลื่อนรถลูกกรงผ่าน ด้านประชาชนตะโกนตอบโต้เป็นระยะด้วยคำว่า “ขี้ข้าเผด็จการ” “ภาษีกู”
นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก ได้กล่าวปราศรัยโจมตีการจับกุมแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม และท้าทายรัฐบาลหากคิดที่จะทำรัฐประหาร
“รัฐประหารเมื่อไหร่ ไม่ต้องชุมนุม ไม่ต้องปราศรัย ออกมาเดินเต็มถนนก็พอ อานนท์ กับ เจมส์ ไม่ได้รับการประกันตัว โห่ดัง ๆ ให้กับกระบวนการยุติธรรม ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด หลายคนในที่นี้โดนหมายจับ แต่มันจะโดนเพิ่มเติม หลังจากจับเราไปแล้ว เรากล้าชุมนุม เราไม่หนีแน่นอน ไม่ต้องกลัวเราหนี ถ้าจะจับมาแฟร์ ๆ อย่าลอบกัด อย่าแอบควบคุมตัวไป นั่นไม่ใช่วิสัยของผู้นำ หรือผู้รักษากฎหมาย” นางสาวสุวรรณา กล่าว
ด้าน ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ กล่าวปฏิเสธว่าทางผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง
“เขาบอกว่า ม็อบเรามีพฤติกรรมรุนแรง เราไม่ได้รุนแรงที่พฤติกรรม แต่รุนแรงที่เราพูด นอกจากเราทะลุเพดาน เราได้รื้อโครงสร้างศักดินาและเผด็จการ ถ้าไม่มีชุมนุม เรื่องพวกนี้จะอยู่แค่เวทีเสวนาและทวิตเตอร์ เราต้องยืนยันให้ชัดเจนว่า เราไม่เอานายกพระราชทาน ไม่ว่าจะเป็นธนาธร ทักษิณ ปิยบุตร สุดารัตน์ กูไม่ใช่พวกที่เอาใครก็ได้ที่กูชอบ” ครูใหญ่อรรถพล กล่าว
เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแกนนำ และเข้าสลายการชุมนุม โดยได้ลงนามในประกาศ เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 อ้างเหตุผล ความไม่สงบอันเกิดจากการชุมนุม และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ชุมนุม และห้ามการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป
“โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนินมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ตอนหนึ่งของประกาศ ระบุ
“อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง กรณีนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 และ 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ประกาศซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
ต่อมาในเวลาประมาณ 04.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ นำกำลังกว่าพันนาย เข้าควบคุมพื้นที่ถนนพิษณุโลก และราชดำเนิน ซึ่งเป็นที่ที่ผู้ชุมนุม ตั้งเวที และพักค้างคืน โดยแม้ว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ประกาศแล้วว่าจะยุติการชุมนุมที่บริเวณดังกล่าวในเวลา 06.00 น. แต่เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนที่เข้ากระชับพื้นที่ และจับกุมตัวแกนนำการปราศรัยในที่สุด
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยังคงกำหนดการเดิม แม้จะมีการประท้วง โดยมีการรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน นาย หวัง ยี่ ที่ได้มาเยือนไทยตามกำหนดการ ในวันพุธและพฤหัสที่ 14-15 ตุลาคม ในกรุงเทพฯ ตามแถลงของโฆษกรัฐบาล
โดยระบุว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือเกี่ยวกับวัคซีนสำหรับโควิด-19 ของจีน รวมถึงความพยายามในการหนุนเศรษฐกิจไทย รวมถึงโครงการ OBOR (One Belt, One Road) ทั้งยังหารือเกี่ยวกับข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ในแม่น้ำโขง ขณะที่โฆษกรัฐบาลไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม
ตำรวจแจงจับผู้ชุมนุม
ส่วนเมื่อตอนสายของวันนี้ พลตำรวจตรียิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมไป 22 ราย โดยมีแกนนำ 4 ราย ที่ถูกกล่าวว่าตามความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้แก่ นายพริษฐ์ (เพนกวิน) ชิวารักษ์ ถูกจับกุมตามหมายจับศาลธัญบุรี ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563, นายอานนท์ หรือทนายอานนท์ นำภา ถูกจับกุมตามหมายจับศาลเชียงใหม่ ลงวันที่ 1 กันยายน 2563, นายประสิทธิ์ (เจมส์) ครุธาโรจน์ ถูกจับกุมตามหมายจับศาลเชียงใหม่ ลงวันที่ 1 กันยายน 2563, และนางสาวปนัสยา (รุ้ง) สิทธิจิราวัฒนกุล ถูกจับกุมตามหมายจับศาลธัญบุรี ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2563
โดย ล่าสุดค่ำวันนี้ ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตามการฝากขัง และการประกันตัวของทนายอานนท์ นำภา และนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หลังจากเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ใบพัดมาลงจอด ที่กองบิน 41 และได้เดินทางไปไต่สวนที่ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ อ.แม่ริม เมื่อเวลา 15.00-19.10 น. ทั้งสองถูกนำตัวออกจากศาล เพื่อไปฝากขังต่อที่ เรือนจำแม่แตง โดยมีระยะเวลา 12 วัน ในการฝากขังชั่วคราว
ส่วนรายชื่อผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวในระหว่างการชุมนุมใหญ่บริเวณทำเนียบรัฐบาล อีก 18 คน ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกอบด้วย นายชาติชาย แจ่มจันทร์, นายศักดา อุประ, นายเจษฎา จอกโคกสูง, นายพนธกร พวงบุบผา, นายวโรตม์ เทศทอง, นายเจษฎา พงษ์วันนา, นายวิชัย โรคน้อย, นายสัมฤทธิ์ นาคสุทธิ, นายโชคชัย โรจนชาญปรีชา, นายปารย์พิรัย์ บุญญาธนาภูวเดช, นายเริงชัย บัววงศ์, นายสิงหา ดลสุข, นายโสภา พรมกสิกร, นายเดือน คงยอด, นายสมประสงค์ เปาอินทร์, นายวันชัย สิงห์สวัสดิ์, ว่าที่ ร.ต.รุ่งโรจน์ ครองสินไชโย และนายไชญะภัณฑ์ พันทรศิริมาส ตามการรายงานของสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนรายชื่อ ผู้ถูกจับกุมจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 ก่อนวันชุมนุมใหญ่ ได้แก่ 1. นายทรงพล สนธิรักษ์ 2. นายนวพล ต้นงาม 3. เพ็ญศรี เจริญเดชรักษา 4. นายวันชัย สุธงศา 5.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำกลุ่มดาวดิน 6. นายทวีชัย มีมงราม 7. นางสาวอภิญญา เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ 8. นายฐิติสรรค์ ญาณวิกร 9. นายมุสิก ผิวอ่อน 10. นายธนกฤต สุขสมวงศ์ 11. นายนันทพงศ์ พานมาฎ 12. นายไผ่ พันมี 13. นายหลอด พันมี 14. นายปีก พันมี 15. นายมาส จ๋องเเจ๋ง 16. นายเปา พันมี 17. นายภักดี ศรีรัศอำไพ 18. นายศศลักษณ์ สุขเจริญ 19. นายเมยาวัฒน์ บึงมุม 20. นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” และ 21. นายกิตติภูมิ ทะสา
ในวันเดียวกันนี้ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกจับกุม 23 ราย และกล่าวว่า นายอานนท์ นำภา และนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ถูกพาตัวไปเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการฝากขัง
“ส่วนเพนกวิน-รุ้ง ปนัสยา-ณัฐชนน ถูกคุมตัวคดี มธ. ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญญบุรี ศาลอนุญาตฝากขัง-ไม่ให้ประกันตัว อ้างผู้ต้องหากระทำผิดหลายครั้ง ในลักษณะก่อความไม่เรียบร้อยในบ้านเมือง ความผิดอัตราโทษสูง หลายข้อหา ประกอบพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกัน ประชาชนอีก 18 ราย ยังถูกคุมตัวที่ ตชด.ภาค 1” เฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ และกล่าวว่า ผู้ต้องหากลุ่มแรกนั้น ได้รับการประกันตัวเพียงคนเดียวจากจำนวน 21 คน
รัฐบาลเตือนให้ระวังการใช้โซเชียลมีเดีย
ในวันนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเตือนประชาชนให้ระมัดระวังถึงการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย
“เรื่องโซเชียลมีเดียในปัจจุบันนี้ ขอให้มีความระมัดระวังในการโพสต์ข้อความ ในการที่จะโพสต์คอมเมนต์ต่างๆ เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่เพียงพูดจาอย่างเดียว การชุมนุมกัน แต่มีการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ไม่ถูกต้อง” นายอนุชา กล่าว พร้อมเตือนให้ประชาชนเคารพการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน
“รัฐบาลเองมีความกังวล จึงได้ดำเนินการเพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากับกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างกัน ทั้งนี้ผมคิดว่าในเรื่องของการพูดคุยกันยังมีโอกาสที่จะเป็นเวทีรับฟังความเห็นได้อยู่”
ด้านนายฐิติพล ภักดีวาณิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐบาลสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่ต่างจากรัฐบาลทหาร เพราะใช้อำนาจเหมือนครั้งที่เพิ่งทำการรัฐประหาร
“ยังคงใช้วิธีการรูปแบบเดิมตั้งแต่สมัยทำรัฐประหาร ยิ่งตอกย้ำข้อสงสัยของประชาชนและต่างชาติที่ว่ารัฐบาลนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ การกระทำของรัฐบาลเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการกระทำของรัฐบาลไม่ได้สะท้อนว่าจะมีการรัฐประหารเพราะในมุมมองของรัฐบาล การทำรัฐประหารก็ไม่มีประโยชน์ เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังได้การสนับสนุนจากบริษัทเอกชนและกลุ่มอนุรักษ์นิยมอยู่” นายฐิติพลกล่าว
องค์กรสิทธิระหว่างประเทศออกแถลงการณ์
“ข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจรัฐบาลที่จะไม่ถูกตรวจสอบ ในการปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใด ๆ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์ “ทางการไทยไม่ควรปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยความสงบด้วยกฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งละเมิดเสรีภาพในการพูดและสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ”
“การชุมนุมตลอดวันที่ 14 ตุลาคม เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แกนนำและผู้ชุมนุมพยายามใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา พวกเขาแสดงออกอย่างสันติ สงบ เรียกร้องในสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยพึงมี” แถลงการณ์ ตอนหนึ่งระบุ
ข้อกำหนด หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อกำหนดตามประกาศหลายประการได้รวมถึง การห้ามการกระทำดังต่อไปนี้ 1. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 2. ห้ามเสนอข่าว จําหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ บรรดาที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
3. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือให้ใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะโดยมีเงื่อนไข ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด 4. ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ใด ๆ และให้ออกจากอาคาร หรือสถานที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด และ 5. ในการดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกําหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้
โดยในการดูแลสถานการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับปฏิบัติงานของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยปัจจุบัน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ควบคุมพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลโดยรอบ ขณะที่ อาคารรัฐสภามีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายควบคุมพื้นที่เช่นกัน