นายกฯ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ใน กทม.
2020.10.22
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์คลี่คลายลง ด้านศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ปัจจุบัน ยังมีผู้ชุมนุม 9 ราย ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัว ขณะที่นักวิชาการเชื่อว่า การแก้ไขสถานการณ์ที่ดีที่สุด คือ พล.อ.ประยุทธ์ ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกเลิกประกาศฯ หลังจากที่เมื่อวานนี้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอยคนละก้าว และนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไขในระบบรัฐสภา ขณะที่ผู้ชุมนุมได้รวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อตัวแทนนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เวลาตัดสินใจ 3 วัน ถ้าไม่ยอมปฏิบัติตามจะมีการยกระดับการชุมนุม
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยให้มีผล ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. ซึ่งประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว จากเดิมที่ประกาศในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และขยายเวลาจนให้มีผลถึง 13 พฤศจิกายน 2563
เนื้อความการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตอนหนึ่งระบุ “ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ข้อ 2 บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
“ปัจจุบันเหตุการณ์ร้ายแรง อันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้คลี่คลายความรุนแรงและยุติลง โดยอยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ สามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว” ประกาศฯ ระบุ
การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของ พล.อ.ประยุทธ์ สืบเนื่องจากมีการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎร ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ “ประกาศยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และในวันเดียวกัน เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมได้เข้าไปใกล้ขบวนเสด็จฯ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และชูสัญลักษณ์สามนิ้วใส่รถยนต์พระที่นั่ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นำไปสู่การสลายการชุมนุมประชาชนที่ข้างทำเนียบรัฐบาล และจับแกนนำการปราศรัย ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม ฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน แม้ว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ
ในสัปดาห์นี้ ศาลอาญาได้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศ วอยซ์ทีวี, ประชาไท, เดอะสแตนดาร์ด และ เดอะรีพอร์ตเตอร์ รวมถึงแฟนเพจเยาวชนปลดแอก ทำให้รัฐบาลถูกประณามจากหลายภาคส่วน ทั้งพรรคฝ่ายค้าน องค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม และสมาคมสื่อ และยังมีการชุมนุมต่อเนื่องทุกวันจนวันพุธนี้ ซึ่งในที่สุดศาลได้ยกเลิกคำสั่งเดิมในวันดียวกัน
ทั้งนี้ การชุมนุมของประชาชนและเยาวชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีการยกระดับการชุมนุม กระทั่งมีผู้ร่วมชุมนุมกว่าหนึ่งแสนคน ในเดือนกันยายน 2563
ยังมีผู้ถูกควบคุมคุมขังอยู่ 9 คน
ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 22 ตุลาคม 2563 ที่มีการชุมนุม มีผู้ปราศรัย และผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ถูกควบคุมตัวทั้งสิ้น 90 คน
“ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลา ศูนย์ทนายฯ ได้เก็บสถิติ พบว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสิ้น 90 คน ตอนนี้ ยังถูกคุมขังอยู่ 9 คน คือ ทนายอานนท์ นำภา, ภานุพงศ์ จาดนอก (ไมค์ ระยอง), สนธยา (สงวนนามสกุล), หมอลำแบงค์ (นายปฏิภาณ สาหร่ายแย้ม), ไผ่ ดาวดิน (นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา), สมยศ พฤกษาเกษมสุข, เอกชัย หงส์กังวาน, รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ตัน (สุรนาถ แป้นประเสริฐ)” เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนาย ระบุ
ด้าน นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาล คือ พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องลาออก
“ทางออก คือ พลเอกประยุทธ์ต้องลาออก จริง ๆ ก่อนหน้านี้มันมีทางออกอื่น แต่รัฐบาล และ สว. ไม่ยอมใช้กลไกนั้น การลงมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีมติซื้อเวลา ให้ตั้ง กมธ. ศึกษา ทำให้ปัจจุบัน ปัญหามันมาขมวดอยู่ที่ พลเอกประยุทธ์ ตอนนี้ อย่างช่วยไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุม เรียกร้องให้มีการหยุดคุกคาม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา รวมถึงความฝันในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีพลเอกประยุทธ์อยู่ในเงื่อนไข แต่การบ่ายเบี่ยง ทำให้เป็นเงื่อนตาย พลเอกประยุทธ์จึงต้องลาออก เพื่อรับผิดชอบปัญหาที่ตนเองทำให้มาถึงตรงนี้” นายอนุสรณ์ กล่าว
“รัฐบาลแสดงให้เห็นว่าจะยอมถอยหนึ่งก้าว ด้วยการที่จะยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินร้ายแรง เปิดประชุมสมัยวิสามัญ แต่ในแง่หนึ่ง ก็คล้ายว่าจะช้าเกินไป อาจไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมในตอนนี้ได้แล้ว เพราะผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ก่อนหน้านี้ รัฐสภา ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น คือ การคลี่คลายปัญหาด้วยการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้คนรู้สึกว่าปัญหาไม่สามารถคลี่คลายได้ ทั้งการให้ประชุมวิสามัญ แต่ไม่ลงมติ ก็ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหา อาจเป็นแค่การเบี่ยงประเด็น” นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม
กลุ่มป้องสถาบันประกาศแสดงพลังวันปิยมหาราช
ขณะเดียวกัน กลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประกาศว่า จะมีการรวมตัวกันในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 โดยการร่วมวางพวงมาลา ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความจงรักภักดี และในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 จะมีการรวมตัวกันอีกครั้งที่ลานพ่อขุน ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้มีการประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรด้วย
“1. ขอประณามเหตุการณ์ 14 ต.ค. 63 ที่มีการล้อมรถยนต์พระที่นั่งและใช้กริยาถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม จาบจ้วง ดูหมื่น อาฆาตมาดร้ายต่อสมเด็จพระราชินี 2. เรียกร้องให้ผู้อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับการหมิ่นสถาบันไม่ว่ากลุ่มไหน 3. ภาคีฯ ไม่ได้ขัดขวางการชุมนุมเรียกร้องใด ๆ ตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการชุนุมที่ไม่เคารพกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น รวมถึงสร้างความแตกแยกภายในชาติ” แถลงการณ์ระบุ