รัฐสภาเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์
2020.10.27
กรุงเทพฯ

ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต่างเห็นต้องกันว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลระบุ ไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แต่เห็นด้วยหากจะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานศึกษาแนวทางที่อภิปราย เพื่อนำไปปฏิบัติ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้รัฐสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ หลังจากที่มีการชุมนุมของประชาชนทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งไม่มีท่าทีจะยุติ โดยได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง และยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ส.ส. ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ได้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย โดยทุกฝ่ายมีจุดร่วม คือ เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนได้เรียกร้อง ในขณะที่พลเอกประยุทธ์ ยืนยันว่าจะไม่ลาออก
“ผมเรียนไปแล้วว่า ผมเข้ามาด้วยอะไร หน้าที่ผมจบหรือยัง ถ้ายังไม่จบ ผมก็ต้องทำให้มันจบ จบด้วยอะไรก็แล้วแต่ ผมไม่ต้องการรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุด มันเป็นหน้าที่ของผม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการประชุมวันอังคารนี้
“ผมเห็นด้วย หากจะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานศึกษาแนวทางที่อภิปรายมาในสภาสองวันมานี้ นำไปสู่การพูดคุยหาทางออก โดยเอาทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล รัฐสภา ผู้เห็นต่าง มาคุยกันให้รู้เรื่องก็แล้วกัน เพื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง... ไปหามาก็แล้วกันว่าใครจะมาร่วม เพราผมเองยังกังวลว่าจะพูดกับใคร จะเจรจากับใคร เพราะไม่มีใครเป็นหัวหน้า ทุกคนเป็นหัวหน้าหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวในทำนองกล่าวหาว่านักศึกษาได้นำต่างชาติเข้ามายุ่งกับกิจการภายในประเทศอีกด้วย
"ขอบคุณประธานสภา และส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน และส.ว.ทุกคน ที่เสนอความคิดเห็นและชี้แนะทางออกให้รัฐบาล เรื่องใดที่ทำและเป็นประโยชน์ รัฐบาลจะรับไปพิจารณา คนไทยอย่าทำอะไรที่เกิคความเสียหายให้กับบ้านเมือง และอย่าเอาต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการในประเทศไทย เรามีอธิปไตยของเราเอง มันอันตรายที่สุด เพราะเป็นช่วงของขั้วอำนาจ มันจะไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเราอย่างเดียว"
พลเอกประยุทธ์ได้อ้างถึงข้อเรียกร้องที่ผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยยื่นยังสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันจันทร์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงดำเนินกิจการของราชอาณาจักรไทยจากแคว้นบาวาเรียของประเทศเยอรมนีหรือไม่
ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอำนาจของ ส.ว. เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ
“เราเห็นว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกัน แม้แต่ท่านนายกรัฐมนตรี เราเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ เราต้องยอมรับว่าส่วนนึงของปัญหาเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม หลายฝ่ายบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. สามารถลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อยากจะเห็นท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เปิดโต๊ะเจรจากับทุกฝ่ายได้มีโอกาสร่วมกันแสวงหาทางออก ทุกฝ่ายต้องมาแสดงเหตุผลร่วมกัน” นายภราดร กล่าว
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ส.ส. ฝ่ายค้าน เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ควรลาออกจากตำแหน่ง
“ผมขอเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนขึ้น แล้วประกาศกลางที่ประชุมของรัฐสภาว่า ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการต่อไป และมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เป็นรัฐธรรมนูญของพี่น้องประชาชน ขอให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่” นายประเสริฐกล่าว
ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล เชื่อว่า ทางออกของปัญหานั้น รัฐบาลควรเปิดใจรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างจริงใจ
“เขาก็มีสิทธิที่จะแสดงออกถึงความคิดเห็นของเขา เราก็มีสิทธิที่จะแสดงออกถึงความคิดเห็นของเรา และต่างฝ่ายต้องมีความอดทนอดกลั้นและยืนยันที่จะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องอาฆาตมาดร้ายต่อกัน… ข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันของผู้ชุมนุม ถ้าเรามองไปที่เจตนาที่ดีเราก็จะเข้าใจว่าการปฏิรูปที่เขาเสนอคือ การปรับปรุงให้ดีขึ้น” นายวิโรจน์ ระบุ
ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวโจมตีกลุ่มผู้ประท้วงที่ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังควรที่จะอยู่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม คือปฏิรูปสถาบัน จึงเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่เป็นเลิศในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุด เป็นผู้ที่เข้มแข็ง และมีความสามารถที่จะปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันอย่างไม่มีผู้ใดเทียบเคียงได้” นายไพบูลย์กล่าวต่อสภา
ด้าน นายวีรกร คำประกอบ สมาชิกรัฐสภา จังหวัดนครสววรค์ ย้ำว่า "เราจะไม่แตะต้องหมวดหนึ่ง หมวดสอง หมวดพระมหากษัตริย์"
ผู้ชุมนุมและนักวิชาการไม่เชื่อสภา แต่เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรง
ขณะที่ นายปิยรัฐ จงเทพ แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ยอมรับว่าตนไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภาในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
“หลายครั้งที่ผ่านมาในสมัยของพลเอกประยุทธ์ เหมือนสภาไม่มีความหมาย เอาปัญหามาถกเถียงแต่เกาไม่ถูกที่คัน เพราะปัญหาของประเทศ พูดไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ สภาไม่พูด สุดท้ายแล้วประชาชนเลยไม่เชื่อมั่น ผมเห็นว่าทางออกคือรัฐบาลต้องสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการพูดคุย หยุดอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้ง กฎหมาย เอื้อแก่การที่พลเอกประยุทธ์จะครองอำนาจ” นายปิยรัฐ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ถ้าพลเอกประยุทธ์ลาออก มีรัฐบาลเฉพาะกาลที่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง ส.ส.ร. มีผู้สมัครที่หาเสียงเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การพูดถึงสถาบันก็จะถูกผลักไปอยู่ในสภา เมื่อได้รัฐธรรมนูญของประชาชน ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นั่นผมมองว่าเป็นทางออก ส่วนความรุนแรง ผมเชื่อว่าความรุนแรงขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจอยากให้มีหรือไม่ ผู้ชุมนุมไม่ได้เรียกร้องความรุนแรงอยู่แล้ว จะเห็นได้จากวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งมีคนเสื้อเหลืองอยู่สองข้างทางแต่ผู้ชุมนุมสองฝ่ายก็ไม่ทะเลาะ และอยู่กันอย่างเข้าอกเข้าใจ” นายปิยรัฐ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี เชื่อว่าการประชุมรัฐสภา จะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเช่นกัน
“การประชุมสภา ฝ่ายหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง ยากที่จะหาบทสรุป เชื่อว่าสุดท้ายไม่มีทางออก ผมยืนยันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั้งสามข้อไม่มีความชอบธรรม โดยเฉพาะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์คือการล้มล้างสถาบันพระมหากษัติรย์ สถาบันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ประชาชน ปัญหาอยู่ที่นักการเมือง แต่ข้อเรียกร้องไม่ได้ให้แก้ที่ต้นเหตุของปัญหาคือนักการเมือง เท่ากับเขามีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสาธารณรัฐ” นายแพทย์วรงค์ กล่าวผ่านโทรศัพท์แก่เบนาร์นิวส์
“ผมเห็นว่า รัฐบาลต้องใจเย็น ๆ และให้ความรู้ประชาชนไปเรื่อยๆ การแก้รัฐธรรมนูญผมไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่ามีนัยที่แฝงเร้น การให้นายกฯ ลาออกก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะเขามาจากการเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่า การชุมนุมจะไม่เกิดความรุนแรง เพราะฝ่ายปกป้องสถาบันเป็นการแสดงออก ไม่ได้มีเจตนาไปปะทะ เพราะมันจะเข้าทางของผู้ชุมนุม ฝ่ายปกป้องแค่ต้องการบอกว่า เราไม่เห็นด้วย และปกป้องสถาบัน” นายแพทย์วรงค์ ระบุ
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า การประชุมรัฐสภา อาจไม่สามารถหาทางออกของประเทศได้
“ถ้าดูจากการพูดของฝ่ายรัฐบาลเหมือนเป็นการตั้งข้อกล่าวหากับผู้ชุมนุม การเปิดสภาคราวนี้ไม่ได้สะท้อนไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันเลย เพราะประเด็นที่เป็นปัญหาไม่ได้ถูกพูดถึง หลักๆ มองว่าเป็นแค่การซื้อเวลาของฝ่ายรัฐบาล ไม่น่านำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงได้… สำหรับการชุมมนุม เชื่อว่ากลุ่มสนับสนุนรัฐบาลมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมากกว่าฝ่ายเรียกร้องการปฏิรูป เพราะมีการใช้ถ้อยคำอาจนำไปสู่ความรุนแรงจากฝ่ายดังกล่าว” นายฐิติพลกล่าว
ร้องต่างชาติแทรกแซงกิจการไทย
ในวันอังคารนี้ กลุ่มประชาชนเสื้อเหลืองนับพันคน ได้รวมตัวกันภายในสวนลุมพินี หลังจากที่ นางทยา ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนออกมาแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยบรรยากาศการชุมนุม มีประชาชนสวมเสื้อเหลือง ชูพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ และถือธงชาติ
โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงเช้า ประชาชนเสื้อเหลืองประมาณ 20 คน โดยการนำของ น.ส.หฤทัย ม่วงบุญศรี อดีตนักร้อง ได้รวมตัวที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา หยุดแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการยื่นหนังสือต่อตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตฯ แต่อย่างใด โดยในการชุมนุมมีการถือป้าย “Stop interfering Thai politics-หยุดแทรกแซง” “Stop Hybrid war please return peace to the world” (หยุดสงครามลูกผสม กรุณาคืนสันติสู่โลก) เป็นต้น
โดยทางเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในวันอังคารนี้ แต่แถลงการณ์ที่เผยแพร่ไปเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวว่าทางการสหรัฐอเมริกาไม่มีนโยบายแทรกแซงกิจการในประเทศไทย
“สหรัฐอเมริกาไม่มีการสนับสนุนบุคคล หรือพรรคการเมืองใด ๆ เราสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ในฐานะมิตรของประเทศไทย เราขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายปฏิบัติด้วยความเคารพและอดกลั้นต่อไป และมีส่วนร่วมในการเจรจาที่สร้างสรรค์ว่า จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างไร” เนื้อความในแถลงการณ์ลงวันที่ 11 ก.ย. 2563 ระบุ