นักศึกษา-นักเรียน หลายร้อยคน ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.02.27
กรุงเทพฯ
200227-TH-students-flashmob-1000.jpg นักศึกษาและประชาชน รวมตัวกันชุมนุมขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เป็นห่วงนักศึกษาที่มาชุมนุมประท้วง เนื่องจาก ผู้ร่วมชุมนุมอาจถูกดำเนินคดี เช่นเดียวกับ ผู้ชุมนุมในปี 2553 และปี 2557 ขณะที่นักศึกษา-นักเรียน ยังคงเดินหน้าชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล โดยไม่สนใจคำเตือนของนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวในห้องประชุมรัฐสภาว่า ไม่รู้สึกโกรธที่นักเรียน-นักศึกษาออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลของตนเอง แต่ขอร้องให้ผู้ชุมนุมฟังสิ่งที่รัฐบาลแถลง ระหว่างการอภิปรายด้วย เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน

“จริง ๆ แล้วมันมีความผิดอยู่พอสมควร ผมก็เป็นกังวลกับเด็กเหล่านี้ อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจจะถูกชักชวน อาจจะถูกปลุกมา โดยการฟังความข้างเดียว สิ่งที่เป็นกังวลกับเขาก็คือว่า กฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์นะครับ ไม่ว่าจะวันนี้ วันหน้าต่างๆ นี่ผมไม่ได้ขู่นะครับ หลาย ๆ อย่างก็ถูกดำเนินการอยู่ในคดีความทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเมื่อ ปี 53 ปี 57 ยังเป็นคดีทั้งหมดไม่ว่าจะสีไหนก็ตาม” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

“ที่ผ่านมาปี 14 ปี 16 (14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519) มันก็อีกเคสนึง กรณีนึง ซึ่งวันนี้เราไม่ได้ทำแบบนั้น ที่ทำให้เกิดเงื่อนไข ฉะนั้นวันนี้ก็มีเรื่องเดียวที่มันเกิดเหตุการณ์ขึ้นในปี 57 ก่อนหน้านั้นท่านก็ทราบดี ปี 53 ท่านก็รู้อยู่ว่า คนจำนวนมากที่ออกมาคือใคร ทำเพื่ออะไร มีการปลุกระดมกันอย่างไร สิ่งที่ผมห่วงคือห่วงอนาคตของคนเหล่านี้มากกว่า” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

โดยสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงคือ การชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.-คนเสื้อแดง) ในปี 2553 เพื่อขับไล่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งนำไปสู่การสลายชุมนุม และมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 94 คน และการชุมนุมของ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในปี 2556-2557 เพื่อขับไล่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งระหว่างการชุมนุมมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และนำไปสู่การรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หลังจากนั้น แกนนำการชุมนุมในเหตุการณ์ในปี 2553 และ 2556-2557 ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และต้องโทษจำคุกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการชุมนุมของนักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งภายหลังมีความรุนแรง จนทำให้มีคนเสียชีวิตรวมกันอย่างน้อย 120 คน และนักศึกษาบางส่วนต้องหลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันช่วงเย็น นักศึกษาและประชาชนหลายร้อยคนได้รวมตัวกันภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อชุมนุมขับไล่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ และเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีการปราศรัย ชูแผ่นป้ายข้อความ และตะโกน โจมตีรัฐบาล ตลอดระยะเวลาการชุมนุมกว่า 1 ชั่วโมง

“เลือกตั้งแล้วแทนที่เราจะได้อนาคตใหม่ อนาคตที่ดี ๆ เรากลับได้อนาคตเก่า แถมด้วย 250 คน (สมาชิกวุฒิสภา) ที่เราไม่ได้เลือกมาด้วย จริง ๆ เรารู้สึกว่า เราสิ้นหวังและผิดหวังกับประเทศนี้ ... เผด็จการจงพินาศ ประยุทธ์ ออกไป” นายบอย (ขอสงวนนามจริง) หนึ่งในแกนนำนักศึกษารามคำแหง ที่ปราศรัยในการชุมนุมที่ลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตหัวหมาก กรุงเทพฯ ระบุ

ทั้งนี้ ป้ายประท้วงของนักศึกษายังได้ระบุข้อความต่างๆ ที่เป็นการโจมตีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เช่น “เรียน 8 ปีก็ไม่พรือ พวกกูยึดถือประชาธิปไตย” “เปลวเทียนให้แสง เผด็จการกำแหงต้องไล่มัน” “ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ” “ประเทศจะพินาศยังจะอ้างรักชาติอีกหรอ” “พ่อขุนคงขุ่นเคืองถ้าบ้านเมืองมันอัปรีย์” “เกลียดรัฐบาลไม่ได้ชังชาติ” เป็นต้น

การชุมนุมรวมตัวของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ในโรงเรียนมัธยมศึกษา และหลายมหาวิทยาลัย ติดต่อกัน โดยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 จากกรณีที่พรรคได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคเป็นเงิน 191 ล้านบาท ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นการบริจาคเงินมากกว่าที่กฎหมายกำหนด และเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ

ซึ่งนอกจากการยุบพรรคแล้ว เงินกู้ 191 ล้านบาทดังกล่าวยังจะถูกยึดเข้าสู่กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรค 16 คน ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีด้วย โดยพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากวัยรุ่น และวัยนักเรียน นักศึกษา โดยได้คะแนนในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2563 กว่า 6 ล้านเสียง การยุบพรรคจึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้สนับสนุนจำนวนมาก ซึ่งมองว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว ผิดปกติ และคล้ายกับเป็นการกลั่นแกล้งพรรค

นายซูกริฟฟี ลาเตะ ขณะปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
นายซูกริฟฟี ลาเตะ ขณะปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

นายซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) ซึ่งเดินทางมาร่วมชุมนุมครั้งนี้ กล่าวถึงเหตุผลของการมาร่วมชุมนุม เนื่องจากเห็นว่าประเทศต้องการประชาธิปไตย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้การมีส่วนร่วมของประชาชน

“ห้าหกปีที่ผ่านมานี้ เราอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลเผด็จการ แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันคือประชาธิปไตย การร่างกฎหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากเจตจำนงค์ของประชาชน การพยายามสืบทอดอำนาจ การพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในพื้นที่ เราโดนมาตลอด อยู่ในบรรยากาศของการทหารนำการเมืองมาตลอดสิบห้าปี... รัฐบาลนี้ในเลนส์ของความมั่นคง มองว่าทุกคนคือศัตรู ทุกคนต้องคิดเหมือนกันหมดถึงจะสงบ ที่จริงแล้วมันไม่ใช่...”  นายซูกริฟฟี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“มันจำเป็นที่พวกเราจะต้องออกมาเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้เป็นประชาธิปไตย พวกเราก็พยายามสื่อสารว่า สุดท้ายแล้ว สันติภาพ ที่มันจะเกิดในปัตตานีและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันจะต้องยึดโยงกับประชาชน ประชาชนต้องสามารถกำหนดเจตนารมณ์ทางการเมืองของตัวเองได้” นายซูกริฟฟี กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการชุมนุม ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยเช่นกัน นายณัฐจศักดิ์ พุทธจักรวาล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของทุกกลุ่ม

“ผมไม่เห็นด้วย เพราะอะไรรู้หรือเปล่า ถามหน่อยเหอะ ประชาธิปไตยคืออะไรคุณรู้ยัง คุณรู้ไหมว่า (การประท้วงที่) ฝรั่งเศสคนตายเท่าไหร่ ถ้ามันกลายไปเป็นความรุนแรงแล้วมันเดือดร้อนใครล่ะ ท่านต้องมาห้ามศึกแบบเดียวกับ 14 ตุลาคม 2516 ผมเป็นนักรบมาก่อน ผมถึงได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร” นายณัฐจศักดิ์ กล่าว

ในวันเดียวกันนี้ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในลักษณะเดียวกัน และก่อนหน้านี้ นักเรียนจากโรงเรียนสตรีวิทยา นิสิต และนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ชุมนุมในลักษณะเดียวกันไปแล้ว ขณะที่ยังมีนักเรียน นักศึกษาของหลายสถานศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ประกาศจะชุมนุมในอนาคตอันใกล้ด้วย

“ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประชาชนรักมาก แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมีได้อย่างเต็มที่ แต่พวกเรา มารวมกันตรงนี้ เพื่อเรียกร้องสิทธินั้นกลับคืนมา พวกเรานั้นต้องการที่จะเรียกร้องสิทธิให้ประชาชนทุกคน ให้ประเทศไทย แล้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา น่าจะเป็นสตาร์ทอัพที่ดีมากในการปลูกฝังให้คนรักประชาธิปไตย และใช้ประชาธิปไตยเป็นการปกครองประเทศได้ .. แม้ว่าจะเป็นการรวมกันในระยะสั้น ๆ ในช่วงเช้า แต่เราหวังว่ามันจะส่งผลที่ดี เป็นโดมิโนเอฟเฟคในอนาคต” นักเรียนเตรียมอุดมศึกษากล่าวปราศรัย ท่ามกลางเด็กนักเรียนชุมนุมร่วมร้อยคน ในช่วงเช้าวันนี้

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวานนี้ มีนักศึกษาหลายร้อยชุมนุมเช่นกัน

“ประเทศอื่นผู้นำของเขาคุยเรื่องบล็อคเชน คุยเรื่องเอไอ แต่ผู้นำของเรานี่คุยเรื่องเปิดกูเกิ้ลอยู่ เราต้องการผุ้นำที่พูดจาสุภาพ ผู้นำที่มีบุคลิกที่ดี ต้องการผู้นำที่เข้าใจประชาชน ไม่ใช่ผู้นำที่ด่าประชาชน ผู้นำที่ด่านักข่าวทุกวัน แล้วเราก็ไม่ต้องการผู้นำที่ เข้าในสภาหลับ ออกนอกสภาล้ม” นักศึกษาที่ร่วมชุมนุมกล่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ส.ว. มาจากการเลือกโดย คสช. เมื่อถึงการเลือกนายกฯ ส.ว. ก็ดันมีสิทธิในการเลือก คุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลก็ออกมาชัดแจ้งแล้วว่า ส.ว. 250 คน มีทั้งหมด 249 คน ที่เลือกคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภางดออกเสียง 1 เสียง ถ้าตัด ส.ว. ทั้ง 250 คนนี้ออก คุณประยุทธ์จะไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ เพราะเสียงของเขาไม่พอ แล้วอย่างนี้ยังจะบอกว่า ไร้ความทุจริต หรือความประพฤติมิชอบได้อีกเหรอ” นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนำประท้วงระบุ

โดยนอกจากจะมีการปราศรัยนำเสนอความผิดพลาดในการบริหารงานของ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์แล้ว นักเรียนและนักศึกษายังได้มีการทำป้ายประท้วง ซึ่งระบุข้อความต่อต้านรัฐบาลหลายข้อความ เช่น “ไม่เอาเผด็จการ” “อยากได้นายกที่มีเซลส์สมองมากกว่า 84,000 เซลส์” และ

“อยากมีประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการ” “Free Democracy” “Liverpool จะเป็นแชมป์ก่อนไทยจะเป็น ปชต.(ประชาธิปไตย)” “Where is Democracy” “ทีสิสก็ต้องทำ คนละยำก็ต้องไล่” “Fight for Future” “บริหารไม่ได้ก็กลับไปอยู่ในขวดซีอิ๊วนะ” เป็นต้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง