ผู้นำอิสลามจชต.: ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอน
2018.05.09
ปัตตานี

ในวันพุธนี้ ผู้นำศาสนาจาก 10 องค์กร ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อรวมพลังต่อต้านความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1439 นี้ หลังจากที่ปีที่แล้ว มียอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บน้อยที่สุด นับตั้งแต่การเกิดเหตุรุนแรงมากว่าสิบปี
ผู้นำศาสนา 10 องค์กรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมประชุมกับ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการ บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก ปัตตานี
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวเรียกร้องให้กลุ่มก่อความไม่สงบเลิกปฏิบัติการในช่วงเดือนถือศีลอดที่ศักดิ์สิทธิ์นี้
"กลุ่มที่ปฏิบัติการก่อเหตุและก่อความรุนแรงทุกรูปแบบให้ยุติการกระทำเหล่านั้นโดยทันที เพราะเป็นสิ่งที่ผิดหลักการศาสนาอย่างชัดเจน" นายแวดือราแม กล่าวในที่ประชุม
"ขอเชิญชวนพี่น้องมุสลิมทุกคน ผู้นำทุกมัสยิด ร่วมทำอิบาดะตามแบบอย่างของศาสดาเพื่อค้นหาความสันติสุข ขอให้พี่น้องมุสลิมทุกคน ทุกกลุ่ม ร่วมกันต่อต้านและปฏิเสธความรุนแรง และจงหยุดให้การสนับสนุนกลุ่มที่ก่อกวนและก่อเหตุรุนแรงทุกกลุ่ม เพื่อให้การปฏิบัติศาสนกิจในห้วงเดือนรอมฎอนเกิดความสงบสันติอย่างแท้จริง" นายแวดือราแม กล่าว
ด้าน พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้กล่าวเสริมว่า ผู้นำศาสนาจะเป็นผู้ชี้นำให้สถานการณ์ดีขึ้น และเป็นผู้ที่จะช่วยดูแลภาคใต้ให้สงบสุข
"ขอบคุณผู้นำศาสนาทุกท่าน เหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นมาก ไม่ได้เป็นเพราะทหาร แต่เป็นเพราะผู้นำศาสนาให้ความร่วมมือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดีมาอย่างต่อเนื่อง ผู้นำศาสนาเท่านั้นที่จะดูแลภาคใต้ของเรา เจ้าหน้าที่รัฐก็จะให้ความร่วมมือกับผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐมาเพื่อช่วยผู้นำ" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าว
"รอมฎอนนี้ ขอให้เป็นเดือนแห่งความสงบไม่มีความรุนแรง ไม่อยากให้เป็นแค่เดือนรอมฎอน อยากให้เป็นทุกเดือน ขอให้เป็นเดือนแห่งความสงบ อยากให้ทุกคนก้าวข้ามความรุนแรงแล้วมาทำให้ทุกเดือนเกิดความสงบ" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
การเริ่มถือศีลอดจะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ 16 พฤษภาคม นี้ หากว่าสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ในวันอังคารที่ 15 พฤษภาคม
ด้านนายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการ บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทาง ศอ.บต. จะให้การสนับสนุนการถือศีลอดของชาวไทยมุสลิมผ่านโครงการ 12 โครงการ
"...สนับสนุนงบประมาณให้กับผู้นำศาสนาในการปรับบรรยากาศให้เอื้อต่อการถือศีลอด บริจาคอินทผาลัมและน้ำหวานให้กับมัสยิด สนับสนุนข้าวสาร 20,000 ถุง ให้กับผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนชุดละศีลอดสำหรับผู้ที่เดินทางบนท้องถนน สนับสนุนกิจกรรมที่หอดูดวงจันทร์ ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา กระเช้าละศีลอดให้ผู้ได้รับผลกระทบเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และรายการทีวี ที่ให้ความรู้กับพี่น้องในช่วงรอมฎอน" นายกิตติ กล่าว
ส่วน พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภาค 9 กล่าวว่า จะเน้นการระมัดระวังเรื่องของสิ่งแปลกปลอมที่รบกวนสมาธิของพี่น้องชาวไทยมุสลิม รวมทั้งเรื่องความปลอดภัย ในช่วงเดือนรอมฎอนนี้
จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรทั้งหมด 2.2 ล้านคน ร้อยละ 85.42 นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่ร้อยละ 14.58 นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ
จากการรวบรวมข้อมูลของเบนาร์นิวส์ โดยอาศัยรายงานจากทหารและตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 9 พ.ค. 2561 ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรง (ยังไม่ได้ระบุสาเหตุ) แล้วรวม 102 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 104 ราย
เมื่อนับเฉพาะความรุนแรงในรอมฎอน นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงระลอกใหม่เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา พบว่า ปี 2560 มีความรุนแรงน้อยที่สุด คือ มีเหตุรวม 23 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บ เพียง 16 ราย
“ความไม่สงบ มันไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ผมมั่นใจว่าทุกคนไม่มีใครต้องการความรุนแรง ทุกคนต่างปฏิเสธมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเดือนรอมฎอน ต้องไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเด็ดขาดพวกเราไม่ยอมรับและขอปฏิเสธความรุนแรง" นายมูฮำหมัดอาบาวี เจะเลาะ ชาวบ้าน ในจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์