อันวาร์ : มาเลเซียไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาชายแดนใต้
2023.02.09
กรุงเทพฯ

ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยืนยันในการแถลงร่วมกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า มาเลเซียไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างเข้าใจร่วมกัน โดยให้ความสำคัญว่าสันติภาพเป็นทางออก
นายอันวาร์ และภริยา เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยได้หารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ ก่อนที่จะมีการแถลงร่วมในเวลา 18.20 น.
“ผมมาที่นี่พร้อมกับจุดยืนที่ชัดเจนว่า รัฐบาลมาเลเซียไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะรูปแบบใดเพื่อแก้ปัญหา" นายอันวาร์ กล่าว
"เราจะใช้สิทธิของเราในฐานะเพื่อน และสมาชิกครอบครัว ในฐานะประเทศมาเลเซีย-ไทย รวมถึงฐานะสมาชิกอาเซียน เพื่อแสดงความกังวลต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยอมรับว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย”
“โชคร้ายที่การปะทะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสร้างความไม่ไว้วางใจ และความไม่พอใจระหว่างกัน เรา (มาเลเซีย) อยากจะขอร้องให้กองกำลังของทั้งสองฝ่าย (ไทย-ผู้เห็นต่าง) ทั้งในภาคใต้ของไทย แม้กระทั่งในมาเลเซีย ตระหนักว่า สันติภาพคือสิ่งสำคัญสูงสุด และเรามีความเข้าใจในเรื่องนี้ ในฐานะที่มาเลเซียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และศาสนา เราจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจ และยืนยันเรื่องนี้เพื่อการแก้ปัญหาของเพื่อนเราทั้งสองฝ่าย” นายอันวาร์ กล่าวเพิ่มเติม
และในวันเดียวกัน พ.ต.อ. อภิสฤษฎิ์ มณีโชติ ผกก.สภ.รือเสาะ เปิดเผยว่าได้รับแจ้งเหตุ คนร้ายลอบยิงและวางระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยเส้นทางรถไฟ บริเวณ ม.4 บ.ดือแย ต.สาวอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 6 นาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่า ผู้ก่อเหตุต้องการจะส่งสัญญาณถึงรัฐบาลมาเลเซีย เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายอันวาร์เดินทางเยือนประเทศไทย
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย
นายกฯ อันวาร์ น่าจะตั้งใจ 'ทำให้เป็นมรดกของเขา'
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งหลายคนกำลังตั้งความหวังว่าเขาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่หาทางออกได้ยากในสามจังหวัดชายแดนใต้ พูดถึง "หน้าที่" ของประเทศของเขาในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการสันติสุขนี้
“นั่นคือเหตุผลที่เราตกลงที่จะแต่งตั้ง ผู้อำนวยความสะดวก ที่เป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพที่เกษียณอายุของเรา ที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักกับนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อทำงานและหาทางช่วยเหลือ” นายอันวาร์ กล่าวกับสื่อ
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ยืนยันเช่นกันว่า ไทยจะร่วมกับมาเลเซียพัฒนาพื้นที่ชายแดน
“เห็นพ้องถึงการผสานความร่วมมือ ผลักดันความเชื่อมโยงทุกมิติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย ให้เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนร่วมเป็น “แผ่นดินทอง” ที่มีความสุขสงบ ซึ่งมีผลลัพธ์สำคัญ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
“ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนระยะยาว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น” พล.อ. ประยุทธ์ ระบุ
ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล กล่าวกับเบนาร์นิวส์ก่อนหน้า ถึงการเยือนประเทศไทยของอันวาร์ว่า จะมีประโยชน์กับการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
“นายกฯ อันวาร์ ก็มีความเชื่อมโยงกับพลวัตรใหม่ ๆ ที่เราต้องการ ในเรื่องการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเขาเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม การเมืองท้องถิ่น และบุคคลสำคัญในไทย เช่น ท่านรองนายกรัฐมนตรี อย่างที่เป็นข่าว คิดว่าการมาครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับกระบวนการพูดคุยมากขึ้น” ดร. ปณิธาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ดร. ปณิธาน ยังได้กล่าวว่า การข้ามเขตแดนไปมาด้วยช่องทางธรรมชาติของผู้ไม่หวังดีทั้งไทยและมาเลเซีย ยังสามารถทำได้ง่าย ซึ่งหากมีการร่วมมือของมาเลเซีย-ไทยที่ดีขึ้น น่าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้
“เชื่อว่า นายกฯ อันวาร์ ก็น่าจะมีความตั้งใจในเรื่องนี้ เพราะเขาน่าจะมองเป็นมรดกของเขา และเขาก็มีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มต้น การดูแลชายแดนร่วมกัน ลาดตระเวนร่วมกัน ก็น่าจะช่วยสกัดกั้นผู้ที่หนีคดีจากมาเลเซียมาไทย หรือฝ่ายไทยไปมาเลเซีย ป้องกันผู้ไม่หวังดีให้ข้ามแดนมาสร้างความวุ่นวายได้” ดร. ปณิธาน กล่าวทางโทรศัพท์
ในขณะเดียวกัน ในมาเลเซีย มุขมนตรีของรัฐทางชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบ กล่าวชื่นชมแผนพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนติดกับไทยว่า มาได้เวลาพอเหมาะ
“ความพยายามร่วมกันระหว่างมาเลเซียและไทย ในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษในภาคใต้ของไทย หากประสบผล อาจกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในรัฐที่มีพรมแดนติดกัน ซึ่งรวมถึงรัฐปะลิส ทางเหนือของมาเลเซีย” นายมูฮัมหมัด ชุกรี รามลี มุขมนตรีรัฐปะลิส กล่าว
“ผมเคยหารือเรื่องนี้กับ นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ระหว่างการเยือนปะลิสก่อนหน้านี้ มันจะเป็นโอกาสที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเราด้วยการเปิดพรมแดนอีกครั้ง เนื่องจากกิจการค้ากำลังเฟื่องฟูในอีกฝั่งหนึ่ง”
นายกฯ สองประเทศลงนามข้อตกลงร่วม
พล.อ. ประยุทธ์ และนายอันวาร์ ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย 2. บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable Sdn. Bhd. (“TRe”) และ Planet Utility Co., Ltd. (“Planet Utility”) เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย
3. บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation Sdn. Bhd. (“GenCo”) และ B Grimm Power Public Co. Ltd. (“B Grimm”) ซึ่งเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 4. บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
หารือเรื่องเมียนมา
นายอันวาร์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ยังได้หารือเกี่ยวกับปัญหาในประเทศเมียนมาร่วมกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศเผชิญกับปัญหาผู้อพยพชาวเมียนมา
“สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ การร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่ผมคิดว่า ท่านอยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการสะท้อนข้อกังวลต่าง ๆ ของพวกเรา เมียนมาจำเป็นต้องแก้ปัญหาภายในของตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาก็ได้ส่งผลกระทบกระเทือนมาถึงภูมิภาค ซึ่งรวมถึงมาเลเซียด้วย” นายอันวาร์ กล่าว