ชาวทุ่งยางแดง ไม่ยอมให้ทหารพรานเข้าหมู่บ้าน ยันยังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดย นาซือเราะ
2015.04.10
TH-rangers-Apr2015-620 ทหารพรานขณะปฏิบัติการ กำลังเล็งปืน ระหว่าง การปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุการณ์ไม่สงบ จ. นราธิวาส หนึ่งในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ภาพ เอเอฟพี
เอเอฟพี

จากหลายเหตุการณ์การบุกตรวจค้น และจับตัว ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ ความตึงเครียดสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารพราน เริ่มเข้าสู่วิกฤติอีกครั้ง

ชาวบ้านและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ถูกควบคุมตัว 22 ราย พบอาวุธปืนข้างศพ AK 47 จำนวน 3 กระบอก .38 จำนวน 1 กระบอก ลูกระเบิด 1 ลูก เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดคณะกรรมการได้แถลงสรุป ผู้เสียชีวิตไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มขบวนการและอาวุธปืนพร้อมลูกระเบิดไม่ใช่ของผู้ตาย เกิดความรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นทหารพราน เข้าพื้นที่ ในวันที่ 10 เมษายน 2258 ที่ผ่านมา แม้คณะกรรมการจะสรุปในเบื้องต้นว่า ผู้ตายทั้ง 4 ศพไม่ใช่แนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ ปืนและระเบิดข้างศพไม่ใช่ของผู้ตาย

“เหมือนข้อเท็จจริงดังกล่าวจะคลายความรู้สึกโกรธลงแล้วบ้าง สำหรับครอบครัว แต่เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ทหารพรานเข้ามาในพื้นที่ อารมณ์ และความรู้สึกเจ็บปวดก็ขึ้นมาทันที่” วาลิวานุกล่าว

เขายังเล่าต่ออีกว่า ตอนนี้พวกเรายังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่เห็นทหารพราน จะเจ็บและปวดใจมาก บางครั้งก็พยายามเก็บอารมณ์ไม่แสดงออกมา แต่ภรรยาเขาเห็นทหารพรานไม่ได้เลย

กลุ่มวัยรุ่นชาย อายุ 18 ปี ในพื้นที่ รายหนึ่ง เล่าว่า เขาคือหนึ่งในกลุ่มที่ไล่ทหารพราน จากกรมทหารพราน 41 ออกจากพื้นที่ เพราะรับไม่ได้ที่เขาทำกับซัดดัม วานุ เพื่อนของเขา

ด้าน นายมะนาแซ ดอคอ ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านโต๊ะชูด เล่าว่า บรรยากาศในหมู่บ้านทุกวันนี้ ชาวบ้านสามารถทำงานได้ปกติ เหลือแค่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต ที่ยังเศร้าเสียใจเก็บตัวอยู่ในบ้าน  และยังคงหวาดผวาทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่ทหารพรานเข้าพื้นที่ บางครั้งถึงกับขับไล่ ทหารออกจากพื้นที่อีกด้วย

ในส่วนของผู้ที่ถูกควบคุมตัว 22 ราย เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวแล้ว 21 ราย เหลือ เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุคนเดียว ที่เจ้าหน้าที่อายัดตัวไป เพื่อดำเนินคดียาเสพติด

“ตอนนี้ทหารพรานไม่ควรเข้ามาในพื้นที่นี้ จะดีที่สุด เพราะชาวบ้านยังเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อความรู้สึกของชาวบ้านคลายลง ค่อยหาวิธีเข้าพื้นที่ใหม่ เข้าตอนนี้จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย” นายมะนาแซ ดอคอกล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ทหารพราน หนึ่งในผู้ที่ถูกชาวบ้านขับไล่ออกจากพื้นที่ เล่าว่า ในนาที ที่วิ่งออกจากหมู่บ้านโต๊ะชูด มีทั้งผู้หญิงที่ไล่ และกลุ่มวัยรุ่นที่เดินเข้ามาด้วยสีหน้าเอาเรื่อง

“ตอนนั้นใจนึกถึงเหตุการณ์ ที่ ชาวบ้านหมู่ 7 บ้านตันหยงลิมอ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จับตัวทหารนาวิกโยธิน 2 นายแล้วรุมซ้อมจนเสียชีวิต เมื่อ 21 ก.ย. 2548 คิดว่าถ้ายิ่งอยู่ตัวเองคงต้องเป็นเช่น สองทหาร นาวิกโยธินแน่นอน น่ากลัวมาก อันตรายที่สุด เข้าใจว่าเขากำลังโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

ด้าน พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่า “ความรุนแรงในพื้นที่เกิดจาก สองทาง  หนึ่งจากฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ สองเกิดจากผู้ถืออาวุธของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่งาน”

ทุ่งยางแดงโมเดล มิติการแก้ข้อขัดแย้ง

ด้านนายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ยืนยันว่า ข้อเท็จจริงที่ออกมาเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ถือเป็นแนวทางปฏิบัติการเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบของ "ทุ่งยางแดงโมเดล มิติการแก้ข้อขัดแย้ง" โดยใช้หลักศาสนามาแก้

“แนวความคิดของทุ่งยางแดง ในมิติของการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งของทางราชการ กับประชาชน ที่สามารถคลี่คลายและนำมาซึ่งความร่วมมือกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นภายใต้ความเข้าใจ การยอมรับซึ่งกันและกัน”

คือแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งการให้ความเป็นธรรมสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายที่ใจตรงกัน เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นให้ได้ จึงถือได้ว่า นี่คือแนวทางของทุ่งยางแดงโมเดล มิติของการแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง