เวทีปรองดองปัตตานี: ทุกฝ่ายต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.03.15
ปัตตานี
TH-pattani-reconciliation-1000 อิหม่ามและพระสงฆ์ ร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องการปรองดอง ที่ห้องลังกาสุกะ ศาลากลางจังหวัดปัตตานี ปัตตานี วันที่ 15 มีนาคม 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (15 มีนาคม 2560) นี้ ประชาชน นักการเมือง ตัวแทนพรรคการเมือง และตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ ร่วมเวทีปรองดอง ตามแนวทางของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยประชาชนชี้ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องแลกเปลี่ยน รับฟัง และพยายามทำความเข้าใจกัน เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หากอยากให้เกิดความปรองดองขึ้นจริง

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง จังหวัดปัตตานี ซึ่งจัดขึ้นตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2560 ที่ห้องประชุมลังกาสุกะ ศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อวางแผนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ  โดยระดมความคิดจากคนหลากหลายอาชีพ โดยมีการแลกเปลี่ยน 10 ประเด็นหลัก

นายจารุวัฒน์ ระบุว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ประกอบด้วย 10 ด้านหลัก คือ 1.ด้านการเมือง 2.ด้านความเหลื่อมล้ำ 3.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข 5.ด้านสื่อมวลชน 6.ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.ด้านการต่างประเทศ 8.ด้านการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น 9.ด้านการปฏิรูป และ 10.ด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“ประเด็นที่น่าสนใจที่ถูกนำเสนอคือ การนำเอาพระราชดำรัสฯมาใช้ เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา และการที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ให้มีความเข้าใจในเรื่องประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และทำงานให้มีความจริงใจจริงจัง อย่าหวาดระแวง” นายจารุวัฒน์กล่าว

“การแก้ปัญหาสังคม เรื่องเยาวชน เรื่องการศึกษา เรื่องความปลอดภัย ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องเข้าไปแก้ไข เพื่อให้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นมุสลิม 85 เปอร์เซ็น มีความมั่นใจต่อรัฐ เห็นว่ารัฐจริงใจจริงจังที่จะช่วย ความปรองดองในพื้นที่ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นคือหัวใจของการที่จะให้ปรองดอง” นายจารุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับผู้เข้าร่วมมีตัวแทนจากหลายกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสนับสนุนพรรคการเมือง กลุ่มทุนทางการเมือง กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มแกนนำมวลชนทางการเมือง กลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) กลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง กลุ่มข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานรัฐวิสาหกิจ หอการค้าจังหวัด องค์กรที่ทำงานร่วมกับส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำจิตวิญญาณ ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และกลุ่มคนในท้องถิ่น ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐ

ด้าน พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า รูปแบบในการดำเนินงานนั้น กอ.รมน.จังหวัด จะมีการบูรณาการกับทุกหน่วยงาน และจัดตั้งคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นขึ้นเพื่อเชิญรับฟังความคิดเห็น และรวบรวบข้อคิดเห็น รายงานให้ กอ.รมน. ทราบ และ กอ.รมน.จะเป็นผู้รวบรวมข้อคิดเห็นจาก กอ.รมน.จังหวัด นำเสนอให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองต่อไป

“การเรียนเชิญเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น เป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ และข้อพิจารณาของคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นของ กอ.รมน.จังหวัด อาจจะแยกแยะเป็นกลุ่มต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยมีกรอบระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่บัดนี้ และให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคม” พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าว

ขณะเดียวกัน นายอิสมะแอ อาแวลอนิ ชาวปัตตานี แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรองดองว่า สิ่งสำคัญของการสร้างความปรองดองคือ เริ่มต้นจากการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มจากการพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง

“การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ คนในชาติมีความเข้าใจมีความสามัคคี และมีความไว้วางใจ ขั้นแรก ถ้าจะให้เกิดการปรองดองจริงตามเป้าที่วาง รัฐต้องใช้ใจเข้าถึงประชาชนอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้าหาประชาชน พระองค์มีความเข้าใจ จึงเกิดการพัฒนาอย่างถูกจุดและยั่งยืน แต่คนของรัฐยังไม่มีแบบนั้น จะปรองดองได้อย่างไร” นายอิสมะแอกล่าว

“ถ้ารัฐทุกหน่วยมีความเข้าใจพื้นที่ ยอมรับปัญหาที่มี ความวุ่นวายในชาติก็ไม่เกิด แต่สิ่งที่เป็นแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันยังเข้าหากันไม่ได้ ต้องทะเลาะ ให้ชาวบ้านได้เห็นถึงความไม่ปรองดองของรัฐด้วยกัน แล้วชาวบ้านจะเอาความมั่นใจจากไหน อยากให้รัฐใช้ใจทำงานและเข้าถึงชาวบ้าน ความจริงใจเท่านั้น จะสามารถคลี่ปมปัญหา แล้วความสงบในชาติจะเกิดขึ้นเอง” นายอิสมะแอ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง