ผู้ว่าปัตตานีเชิญแกนนำการศึกษาและศาสนาพูดคุยเรื่องการโต้ตอบผลโหวตร่างรัฐธรรมนูญ

นาซือเราะ
2016.08.15
ปัตตานี
TH-referendum-800 นายมังโสด หมะเต๊ะ ประธานองค์กรสิทธิเสรีภาพของประชาชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ (เสื้อสีฟ้า) นำคณะตัวแทนผู้นำศาสนา เข้าพบนายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี(คนที่สองจากขวามือ)พร้อมยื่นใบแถลงการณ์ต่อกรณีผู้นำศาสนาถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 15 ส.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวในวันจันทร์ (15 ส.ค. 2559) นี้ว่า ตนได้เชิญผู้นำบุคลากรทางการศึกษาและการศาสนาอิสลามมาทำความเข้าใจ ในกรณีที่ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวตอบโต้รายงานที่ว่ามีผู้นำศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนใต้ บิดเบือนสาระของร่างรัฐธรรมนูญและชักจูงให้ประชาชนลงมติไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ

นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนได้โทรศัพท์ไปคุยกับนายอาซีส ยานยา ประธานสมาพันธ์โรงเรียนปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นายขดดะรี บินเซ็น ประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเชิญมาพบที่จวนผู้ว่าฯ เพื่อหารือในเรื่องของกิจกรรมที่จัดขึ้น แต่ไม่ได้มีการกักตัว

“ก็ได้คุยกัน ถึงความเหมาะสม ของจัดกิจกรรมและมีการเสนอแนะว่า จะดีกว่าไหม ถ้าได้ไปจัดที่โรงแรมอะไรแบบนี้ จากนั้น วันนี้ก็มีเพียงกิจกรรมละหมาดธรรมดา ไม่ได้มีการกักขัง อะไรตามที่เป็นข่าว” นายสุริยะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ในก่อนหน้า ที่มีการเชิญตัวบุคคลทั้งสองในวันนี้ ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี องค์กรต่างๆ สี่แห่ง คือ องค์กรสิทธิเสรีภาพของประชาชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาพันธ์โรงเรียนเอกชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาคมโรงเรียนตาดีกา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 100 คน ร่วมละหมาดขอพรต่อพระเจ้าให้เกิดสันติสุขในประเทศไทย และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนั้น ได้มีการแจกใบแถลงการณ์ กรณีผู้นำศาสนาถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวหาว่าบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และทำให้คนในชายแดนใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อจะมีการอ่านแถลงการณ์ นายอาซีส และ นายขดดะรี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเชิญตัวไปที่จวนผู้ว่าฯ เสียก่อน

ในเวลาต่อมา นายมังโสด หมะเต๊ะ ประธาน องค์กรสิทธิเสรีภาพของประชาชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำคณะตัวแทนผู้นำศาสนา และประชาชนเดินทางไปที่จวนผู้ว่าฯ เพื่อเข้าพบและยื่นใบแถลงการณ์ดังกล่าวให้แก่นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

นายมังโสด กล่าวว่า “ตามที่มีกระแสข่าวว่าผู้นำศาสนาบิดเบือนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ขอชี้แจงว่า ไม่ได้มีการกระทำดังกล่าว และเชื่อว่าผลที่ออกมาเช่นนั้น เป็นการตัดสินใจของประชาชน”

ทั้งนี้ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา เป็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและมีอัตลักษณ์ดั้งเดิมเป็นชาวมลายู มีการลงมติผู้ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงมากกว่าผู้ยอมรับ ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ เช่นเดียวกันกับในหลายๆ จังหวัดในภาคเหนือและอีสานที่นิยมรัฐบาลที่มาจากตระกูลชินวัตร

ทางองค์กรทั้งสี่ ได้แสดงเนื้อหาชี้แจงในใบแถลงการณ์ว่า “ผู้นำด้านการศึกษาและศาสนา ได้ทำงานอย่างหนัก ด้วยการค้นคว้าหาข้อมูล จากแหล่งต่างๆ ในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้รับการแจกจ่าย เพื่อจะได้นำมาศึกษาและเผยแพร่อย่างถูกต้อง ในกลุ่มชาวมุสลิม”

“ขณะเดียวกันก็ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านรัฐธรรมนูญมาบรรยายให้ความรู้ประกอบด้วย โดยเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การศึกษา สาธารณสุข รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่พบว่า สิทธิของประชาชน ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550”

“นอกจากนี้ ช่วงใกล้วันออกเสียง กรรมการการเลือกตั้งได้จัดส่งจุลสาร ประชาสัมพันธ์ ที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญหลายส่วน ถือเป็นการหลอกลวงและผิดหลักการศาสนาอิสลาม จึงเป็นเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอำเภอใกล้เคียง ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำถามพ่วง ในที่สุดแม้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามโน้มน้าวชักจูงให้เห็นชอบก็ตาม”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง