ทูตสหรัฐ: ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ จะดีขึ้นหากไทยจัดเลือกตั้ง
2016.02.09

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวในการร่วมเปิดการฝึกซ้อมรบร่วมคอบร้าโกลด์ 2016 ในวันอังคาร (9 ก.พ. 2559) นี้ว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐจะเติบโตและเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อประเทศไทยคืนสู่ประชาธิปไตย
นายกลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และพลเอกสมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมรบร่วมคอบร้าโกลด์ 2016 ที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมี 27 ประเทศส่งทหารเข้าร่วม และมีกำหนดการฝึกซ้อมระหว่างวันที่ 9 – 19 กุมภาพันธ์ 2559
“แม้ว่าความสัมพันธ์ของเราในวันนี้จะเข้มแข็งและมั่นคงอยู่แล้ว แต่ความร่วมมือนี้ จะยังสามารถเติบโตและเข้มแข็งขึ้นไปได้อีกเพราะท่านนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันแล้วว่า ประเทศไทยจะกลับสู่กระบวนการเลือกตั้ง และด้วยความหนักแน่นและมั่นคงแบบประชาธิปไตยจะทำให้บทบาทของไทยในฐานะผู้นำของภูมิภาค และความสัมพันธ์ของประเทศเราทั้งสองสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดได้” นายกลิน ที. เดวีส์ กล่าวในสุนทรพจน์เปิดงาน
“ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ที่นี่กับทุกท่านในการเปิดการฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ 2016 เพื่อแสดงถึงพันธสัญญาอันเข้มแข็งมั่นคงของสหรัฐฯที่มีต่อภูมิภาคนี้ พันธสัญญาซึ่งมีความหนักแน่นและยาวนานต่อทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย เพื่อข้ามผ่านอุปสรรคท้าทายชั่วคราวที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของเรา” นายกลิน ที. เดวีส์ ได้กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ รัฐบาลทหาร นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากว่าไม่สามารถยุติปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความขัดแย้งรุนแรงในขณะนั้น และที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการกำหนดใช้กฎอัยการศึก นับเป็นระยะเวลาเกือบสองปีแล้ว ซึ่งถือเป็นการยึดครองอำนาจของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ยาวนาน อันเป็นการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และกระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศสืบมา
พิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2559/2016 ทหารไทย (ด้านหน้า) ทหารกองทัพอากาศสหรัฐ (กลาง) ทหารกองทัพบกสหรัฐ (กลาง, ขวา) ทหารนาวิกโยธินสหรัฐ และทหารไทย (ขวา และด้านหลัง) ใน อำเภอสัตหีบ 9 ก.พ. 2559 (เอเอฟพี)
การฝึกคอบร้าโกลด์ 2559/2016 นี้ ถือเป็นการฝึกครั้งที่ 35 โดยมีประเทศหลักที่ส่งทหารเข้าร่วมฝึก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์
โดยในปี 2559 นี้ สหรัฐฯได้ส่งทหารเข้าร่วมฝึกประมาณ 3300 นาย ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปี 2558 ที่สหรัฐส่งทหารเข้าร่วมจำนวน 3600 นาย และในปี 2557 จำนวน 4300 นาย ซึ่งในปี 2556 (หรือ ค.ศ. 2013) เคยส่งทหารเข้าฝึกถึง 8000 พันกว่านาย
อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ นายกลิน ที. เดวีส์ ได้ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวว่า การทูตของสหรัฐฯ กับไทยไม่ได้หยุดชะงักไป แต่จำเป็นต้องลดจำนวนทหารที่ส่งมาร่วมฝึกเนื่องจากกฎหมายของประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า หากต้องร่วมซ้อมรบกับประเทศซึ่งไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สหรัฐฯจำเป็นต้องลดสัดส่วนทหารลง
ส่วนเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งของประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงต่อสื่อมวลชนหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ทุกอย่างให้เป็นไปตามโรดแมปของรัฐบาลที่วางไว้ คือต้องมีการเลือกตั้งภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560”
กระทรวงการต่างประเทศไทยชี้แจงสาระของรัฐธรรมนูญแก่ทูต 59 ชาติ
ขณะเดียวกันในวันนี้ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ นายศุภชัย เยาวประภาส สมาชิกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เชิญคณะทูตต่างประเทศ ที่ประจำการในประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น โดยมีผู้แทนจากสถานทูต 59 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 11 แห่ง โดยการชี้แจงในวันนี้ เน้นที่สาระสำคัญ และเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญที่ต่างชาติให้ความสนใจ เช่น โครงสร้างทางการเมือง สิทธิและเสรีภาพ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงเพื่อยืนยันอีกครั้งว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามโรดแมปของ คสช.
คาวามเห็นของฝ่ายการเมือง
ในวันจันทร์นี้ ในรายการมองการณ์ไกล นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้กล่าววิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เขียนรัฐธรรมนูญที่ให้สร้างศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไว้อย่างกว้างขวางมาก เพื่อที่จะให้อำนาจในการปราบปรามการโกง แต่บทบาทขององค์กรดังกล่าวที่ผ่านมาในอดีต ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรม ทั้งยังเป็นต้นเหตุของวิกฤติปัญหาของประเทศจนถึงปัจจุบัน
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องผ่านการลงประชามติ ที่คาดว่าจะสามารถทำได้ในเดือนกรกฎาคมนี้
ทางด้าน พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในวันนี้ว่า ทางรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ภายใต้วิธีที่เหมาะสม และหากพบว่ามีประเด็นใดที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน คสช. จะรวบรวมส่งต่อไปยังรัฐบาล และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้แจงไขข้อข้องใจผ่านช่องทางสาธารณะต่อไป