ชาวสวนยางมีหวัง หลังรัฐเตรียมหาโครงการช่วยเหลือ
2016.08.29
ยะลา
ในวันจันทร์ที่ (29 สิงหาคม 2559) ชาวสวนยางพาราเปิดเผยว่า มีความหวังมากขึ้นหลังรัฐบาลเตรียมออกโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ที่ประกอบด้วยการใช้ยางพาราแลกปุ๋ย สนับสนุนเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อ และพักการชำระหนี้ รวมทั้ง โครงการสนับสนุนการแปรรูปสินค้ายางพารา
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล โฆษกการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า กยท. กำลังเร่งออกแบบโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางพารา หลังจากช่วงที่ผ่านมา ราคายางพาราในประเทศไทยประสบปัญหาตกต่ำ จนมีชาวสวนยางพาราจำนวนมากได้รับผลกระทบ
นายสุนันท์ เปิดเผยว่า กยท. มีโครงการที่จะช่วยเหลือชาวสวนยางพาราอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย หนึ่ง โครงการยางพาราแลกปุ๋ยบำรุง โดยโครงการนี้ มีแผนดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 - 30 กันยายน 2560 สอง โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง โดยโครงการจะดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2559 - กันยายน 2561 สาม โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยโครงการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 - 30 กันยายน 2569 และสี่ โครงการพักชำระหนี้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยโครงการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 - 30 กันยายน 2560
ในเรื่องนี้ นายรอมลี เบ็ญยูโซ๊ะ ชาวสวนยางพาราจาก อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ชาวสวนยางพารา รู้สึกมีความหวังมากขึ้น หลังจากที่ได้รับทราบข่าวที่รัฐบาลเตรียมหาโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางรอบใหม่นี้
“รู้สึกมีความหวังมากขึ้นในการกรีดยาง ในการปลูกยาง หลังจากที่ทางการให้ความสำคัญ โดยเฉพาะได้มีการแถลงถึงความคืบหน้าของการช่วยเหลือชาวเกษตรกรยางพารา ไม่ให้หมดความหวังอย่างที่ผ่านมา ผมคิดมาตลอดว่า กรีดยางแค่ให้ครอบครัวมีกิน ไม่ได้หวังสร้างฐานะให้ดี แต่เมื่อได้ยินหลายๆ โครงการที่รัฐบาลพยายามคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา หัวใจพองโตอย่างบอกไม่ถูก” นายรอมลีกล่าว
ในหลายปีที่ผ่านมา ราคายางพาราในประเทศไทยได้ตกต่ำลงมาตลอด เนื่องจากสาเหตุหลักๆ คือ หนึ่ง การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราจาก 14 จังหวัดภาคใต้เป็นเกือบทั่วประเทศ ทำให้มียางพาราออกสู่ตลาดจากเดิมในปี 2554 ที่ 1,500,000 ตันต่อปี เป็นประมาณ 4,300,000 ตัน ในปี 2556 สอง ราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติ และสาม ประเทศจีนที่เคยต้องการยางพาราปีละสี่ล้านตัน ชะลอการนำเข้าเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
จากข้อมูลสถาบันวิจัยการยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่ ปี 2546 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 ราคายางพาราชั้นสามมีราคา 174.44 บาทต่อกิโลกรัม แต่หลังจากนั้น มีแนวโน้มราคาลดลงต่อเนื่อง จนถึงระดับต่ำสุดที่ประมาณเพียง 34 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงเวลานี้ ซึ่งมีชาวสวนยางประมาณสองล้านคนใน 56 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ
ปัจจุบัน ราคายางพาราในประเทศตกกิโลกรัมละ 50-52 บาท ในขณะที่ขี้ยางตกกิโลกรัมละ 18-20 บาท แต่ผลผลิตในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมาลดลงหรือเกษตรกรบางรายไม่ได้พักหน้ายางในหน้าแล้งเลย
ในก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลได้มีมาตรการชดเชยไร่ชาวสวนยางไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ และชดเชยรายได้ให้คนงานกรีดยาง และเมื่อตอนต้นปี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการให้กระทรวงต่างๆ จัดซื้อยางพารามาใช้ในโครงการต่างๆ ของกระทรวงรวม 100,000 ตัน
ทางด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐนี้ว่า ล่าสุด กยท. ได้ดำเนินการรับซื้อยางไปแล้วทั้งหมด 2,892 ตัน จากเกษตรกรจำนวน 26,676 รายใช้งบประมาณในการรับซื้อ 122 ล้านบาท
“จากการสำรวจความต้องการใช้ยางของภาครัฐทั้ง 10 กระทรวง ซึ่งข้อมูลเดิมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แจ้งความต้องการใช้ที่ปริมาณ 80,580 ตัน และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ได้มีการแจ้งลดมาเป็นปริมาณ 4,844 ตัน เพราะยังติดปัญหางบประมาณ และบางหน่วยงานลดการใช้ยางจากเดิมในปีงบประมาณนี้ แต่ได้เตรียมแผนจัดซื้อยางเพิ่มเติมในปีงบประมาณหน้า” นายธีรัชกล่าว
นอกจากนั้น นายสุนันท์ โฆษก กยท. ยังกล่าวว่า ทาง กยท. มีโครงการปรับปรุงการแปรรูปยางพาราให้ได้มาตรฐานดีกว่าเดิมอีกด้วย
“กยท. ดำเนินกิจกรรมเปิดตลาดยางพาราแปรรูปประเภทยางแผ่นรมควันไม่อัดก้อนและแบบอัดก้อน หรือยางลูกขุน ให้ได้มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) ในต้นเดือนกันยายนนี้ จะนำร่องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีชุมนุมสหกรณ์ตรัง ที่ดำเนินการส่งออกอยู่แล้ว ร่วมดำเนินการโครงการด้วย และจะขยายการนำร่องร่วมกับสหกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ กระบี่ นครศรีธรรมราช เป็นต้น” นายสุนันท์ กล่าวแก่สื่อมวลชน