นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธพูดคุยกับชาวสวนยางที่มีแผนจะออกมาเคลื่อนไหววันอังคารหน้า

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.01.07
TH-rubber-620 นายซุลกีฟลี อาเยาะแซะ พ่อค้ารับซื้อขี้ยางในจ. ยะลา ชี้ ขี้ยางก้นถ้วยที่ต้องนำส่งโรงงานทุกวัน เพื่อไม่ให้ขาดทุน หลังราคาขี้ยางไม่นิ่ง 22 ธันวาคม 2558
เบนาร์นิวส์

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันนี้ (7 ธ.ค. 2559) ว่า ตนจะไม่พูดคุยกับทางชาวสวนยางที่กำลังจะออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาราคายางตกต่ำ เพราะว่ารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว และผู้ชุมนุมอาจต้องถูกดำเนินคดี

โดยที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ได้สอบถามถึงกระแสข่าวที่ว่าชาวสวนยาง 17 จังหวัดภาคใต้ จะออกมาชุมนุมกดดันให้รัฐช่วยเหลือปัญหาราคายางตกต่ำในวันอังคารนี้ว่า ถ้าชาวสวนยางออกมาชุมนุมก็มีคดี

“เขามีเจ้าหน้าที่ที่จะคุยอยู่แล้ว แต่ผมบอกอย่างเดียว ชุมนุมไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคงไม่ให้ตามนั้นอยู่แล้ว แต่จะช่วยในแบบวิธีการที่ยั่งยืน เขาก็ต้องร่วมมือกับตนด้วย นี่คือเรื่องของการปฏิรูป ให้ตนเป็นคนปฏิรูป” พลเอกประยุทธ์กล่าว

อย่างก็ตาม ในวันนี้ นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อทางจังหวัดสงขลาเพื่อขออนุญาตชุมชุมตามข้อกำหนดของตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 แต่ยังรอการอนุมัติ ซึ่งผู้รับแจ้งต้องแจ้งให้ผู้ขอชุมชุมทราบภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการชุมนุมที่ตลาดกลางยางพารา ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ นายบุญส่ง ได้กล่าวในวันอังคารนี้ว่า ทางสมาคมชาวสวนยางฯ มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล 6 ข้อ  คือ การเร่งยุติการตกต่ำของราคายาง การหารือร่วมกันกับชาติผู้ผลิตยางพาราในอาเซียน เร่งจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท ให้ทั่วถึงโดยเร็ว ส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถแปรรูปยางให้ได้มาตรฐาน เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้ง เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว  และข้อสุดท้าย ให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตาม ม. 44 ในการนำสต็อกยางพารา 300,000 ตัน มาทำถนน

โครงการชดเชยและเงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพเสริม

เกษตรกรชาวสวนยางในหลายจังหวัดในภาคใต้ เริ่มทยอยได้รับเงินชดเชย เป็นของขวัญวันปีใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะราคายางตกต่ำ และเพื่อเป็นเงินทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สำหรับเจ้าของสวนยาง รวมทั้ง ช่วยเหลือค่าครองชีพคนงานรับจ้างกรีดยาง

ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 12,750 ล้านบาท ให้ชาวสวนยาง และ คนงานกรีดยางราว 850,000 ครอบครัว ใน 56 จังหวัดทั่วประเทศ ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปอีกว่า รัฐบาลได้มีโครงการบรรเทาความเดือดร้อน โดยการจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาทต่อไร่ แต่ไม่สามารถชดเชยราคาได้ทั้งระบบ เพราะไม่มีเงินเพียงพอ และเป็นเงินภาษีประชาชนที่ไม่สามารถนำไปให้คนเฉพาะกลุ่มได้

“เคยได้เงินชดเชยกันเท่าไหร่ เอาเงินจากไหน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท กิโลละสามสิบบาท เอาเงินจากไหนตอบมา และเงินที่ใช้แบบนี้กันอยู่ทุกวันเอามาจากไหน เป็นเงินภาษีประชาชน แล้วจะเอาภาษีนี้ไปให้คนกลุ่มใด กลุ่มเดียวหรือ เดี๋ยวอย่างอื่นอีก” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

“ฉะนั้น ต้องทำโครงสร้างบรรเทาความเดือดร้อนไป 1,500 บาทต่อไร่ นั่นคือการให้ที่ถูกวิธี เคยแต่ให้ชดเชยไปเรื่อยเปื่อย ใช้เงินแบบทิ้งโครมๆ แล้ววันหลังจะใช้อะไรกัน” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติม

ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง กล่าวว่า ยังมีปัญหาในการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์รับเงินชดเชย ที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะรัฐบาลมีการวางกรอบเข้มงวดมาก ส่วนการแจกเงินชดเชย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ที่ผ่านมา เป็นเพียงการนำผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมารับเงินชดเชยก่อนเท่านั้น

โดย จำนวนครอบครัวผู้ที่ได้รับเงินชดเชยแล้ว ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ที่จังหวัดยะลา 241 ครอบครัว จังหวัดนราธิวาส 100 ครอบครัว จังหวัดปัตตานี 78 ราย รวม 419 ครอบครัว

นอกจากนั้น รัฐบาลได้ส่งเสริมแนวทางการปลูกพืชเสริมในสวนยาง เช่น กล้วยหอมทอง หรือการปลูกพืชทดแทน และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปีที่แล้ว ในจังหวัดปัตตานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้อนุมัติในหลักการเพื่อปล่อยเงินสินเชื่อตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เพื่อการประกอบอาชีพเสริม เป็นจำนวนเงิน 163 ล้านบาท แก่เกษตรกรราว 21,000 ราย

โครงการแก้ไขปัญหาระยะยาว

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ทางรัฐบาลได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น การจัดตั้งโครงการรับเบอร์ซิตี้ ในจังหวัดสงขลา ที่จะมีการนำยางพารามาใช้ในประเทศมากขึ้น

“รัฐบาลกำลังทำรับเบอร์ซิตี้ กำลังสร้างโรงงานผลิตใหม่ กำลังแก้ไขในเรื่องของการนำไปสู่การทำถนนหนทาง ยางปูพื้น ปูสระ แต่มันจะเกิดวันเดียวได้หรือไม่” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ ไทยผลิตยางพาราได้ถึงประมาณ 4,300,000 ตันในปี 2556 แต่ต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยมีตลาดใหญ่ที่จีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น

สาเหตุการตกต่ำของราคายางพารา

จากข้อมูลสถาบันวิจัยการยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่ ปี 2546 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 ราคายางพาราชั้นสามมีราคา 174.44 บาทต่อกิโลกรัม แต่หลังจากนั้น มีแนวโน้มราคาลดลงต่อเนื่อง จนถึงระดับต่ำสุดที่ประมาณเพียง 34 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น ตามราคา ณ วันที่ 7  มกราคม นี้  มีชาวสวนยางประมาณสองล้านคนใน 56 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำว่า มาจาก หนึ่ง การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราจาก 14 จังหวัดภาคใต้เป็นเกือบทั่วประเทศ ทำให้มียางพาราออกสู่ตลาดจากในปี 2554 ที่ 1,500,000 ตันต่อปี เป็นประมาณ 4,300,000 ตัน ในปี 2556  สอง ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติ  และสาม ประเทศจีนที่เคยต้องการยางพาราปีละสี่ล้านตัน ชะลอการนำเข้าเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ปัญหาการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือของเจ้าของสวนยาง

เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า ทุกวันนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องที่รัฐบาลต้องการปรับนโยบายยางใหม่ที่ให้ลดพื้นที่ปลูกยางลง เพื่อลดการบุกรุกที่สงวนหรือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และเพื่อนำคนเข้าระบบ

“ซึ่งคนที่มีเอกสารสิทธิ์ ก็ให้เข้ามาลงทะเบียน ในกลุ่มนี้ ถึงแม้ว่าเรามีเอกสารสิทธิ์ แต่ไม่มาลงทะเบียนเพื่อแจ้งสิทธิ์ ก็จะไม่มีโอกาสได้เข้าในระบบเหมือนกัน ส่วนคนที่มีเอกสารสิทธิ์ ที่เข้ามาแจ้งสิทธิ์เพื่อขอลงทะเบียน ก็จะได้อยู่ในระบบและรัฐก็จะดูแลคนในระบบ คือ นโยบายใหม่ที่ได้รับ แต่ตอนนี้ ยังไม่มีคำสั่งให้ดำเนินการ” เจ้าหน้าที่ท่านเดียวกันกล่าว

การลงทะเบียนล่าช้า ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยได้ทันท่วงที เจ้าหน้าที่ท่านเดียวกันกล่าวเพิ่มเติม

นายกอเซ็ง แวกาเซ็ง ชาวสวนยางในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ครอบครัวตนมีสวนยาง 5 ไร่ ประมาณ 350 ต้น มีรายได้เฉลี่ยวันละ 400 กว่าบาท ซึ่งต้องส่งเสียลูกๆ เรียนหนังสือรวม 5 คน จากปัญหาเรื่องรายได้ ลูกคนโตสองคน อายุ 20 ปี และ 17 ปี ต้องไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย

“ลูกเรียน 3 คน รายได้ 400 กว่าบาท อย่าให้พูดเลยว่าพอไหม วันไหนที่ไม่มีเงินจริงๆ ก็ไปตัดไม้ยางขาย จะได้เงินมาพันกว่าบาท ปีที่แล้วตัดต้นยางขาย 7 ครั้งๆ ละ 5 ต้น ปัญหาพันกันจนไม่รู้จะแก้ยังไง เพราะหันไปทางไหนก็ต้องมีค่าใช้จ่าย จะพยายามหางานก็ไม่มีเลย” นายกอเซ็ง กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง