ราคายางปรับตัวสูงกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนใต้คึกคัก

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.02.17
จังหวัดชายแดนภาคใต้
TH-rubber-620 น.ส.อาซีซะ เงาะตาลี นักเรียนชั้น ม.3 หยุดโรงเรียนมาช่วยครอบครัวเก็บเศษยางไปขาย จังหวัดยะลา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560
เบนาร์นิวส์

นับเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนแล้วที่เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ประชาชนจับจ่ายซื้อของมากขึ้น เป็นผลจากราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นและคงตัวเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบัน ในตลาดกลาง ยางพาราแผ่นมีราคากิโลกรัมละ 90 บาท เศษยางพารากิโลกรัมละ 70 บาท ในตลาดท้องถิ่น ยางพาราแผ่นกิโลกรัมละ 80-85 บาท และเศษยางพารากิโลกรัมละ 37-40 บาท

ในปี 2559 ชาวสวนยางต้องประสบปัญหาราคายางตกต่ำตลอดทั้งปี โดยราคายางพาราแผ่นปรับตัวระหว่างกิโลกรัมละ 35-70 บาทเท่านั้น และถือว่า ภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยในเดือนมิถุนายน 2555 ราคายางพาราแผ่นลดต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรม และไม่สามารถกลับขึ้นไปขายที่ 100 บาทต่อกิโลกรัมได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซบเซาลง

ในวันศุกร์ (17 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ นายมะดานิง ตีมุง ชาวสวนยางจากจังหวัดยะลาเปิดเผยว่า ราคายางปรับตัวสูงขึ้นหลังเข้าฤดูหนาว ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีกับชาวสวนแล้วยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่ด้วย

“ราคายางดี คุณภาพชีวิตของพวกเราก็ดีขึ้น จากที่กินวันละ 100 บาท ทุกวันนี้กินวันละ 300 บาท พอเราซื้อมากคนที่ขายของก็ขายดีด้วย ราคายางดี ทุกคนในพื้นที่ก็มีความเป็นอยู่ดีขึ้นหมด ทุกปีจะเป็นแบบนี้ หลังฤดูฝนหยุดจะเป็นช่วงฤดูหนาว ช่วงนี้ทั้งราคายางดีขึ้น น้ำยางก็ออกดีด้วย ราคาดีน้ำยางออกเยอะ ชาวสวนยางจะไม่อยู่ดีกินดีได้ยังไง” นายมะดานิงกล่าว

นายมะดานิงกล่าวว่า ช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ ขี้ยามีราคา ก.ก.ละ 12 บาท เขาจะมีรายได้เพียงวันละ 150 บาท ปัจจุบัน ขี้ยางมีราคา ก.ก.ละ 40 บาท ทำให้เขาได้รับรายได้วันละ 500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่น่าพอใจอย่างมาก

“สังเกตได้เลย ตามร้านอาหาร ตามตลาดสด ไม่แห้งเหี่ยวเหมือนก่อนหน้านี้ ชาวสวนยางทุกคนยิ้มออก บางคนไม่กินข้าวที่บ้านเลย จะซื้ออะไรไม่ต้องมานั่งคิดมาก วันนี้จ่ายพรุ่งนี้ก็กรีดยางได้เงินมาอีก แต่หลังจากเดือนนี้ไปจะเป็นช่วงฤดูร้อนยางจะไม่ออก ราคายางจะถูกลง ทุกคนจะกลับคืนสู่ปกติ แต่ก็ขออย่าให้ถูกลงจนถึง 12 บาทอีก ราคายาง ก.ก.ละ 25-30 บาท ชาวสวนยางก็อยู่ได้” นายมะดานิงเพิ่มเติม

นายมะดานิงเสนอวิธีรับมือกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า ชาวสวนยางพาราควรหาอาชีพเสริม โดยใช้เวลาที่เสร็จจากการกรีดยางในช่วงเช้า เพื่อหารายได้เสริมชดเชยช่วงราคายางตกต่ำ และเชื่อว่าการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจะช่วยให้ชาวสวนยางสามารถบริหารจัดการรายได้ได้ดีขึ้น

นางรีดา อาบะ แม่ค้าขายอาหาร ในจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ราคายางที่ปรับตัวขึ้นมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างรู้สึกได้

“ราคายางดี คนขายของก็ขายของได้ดี ทุกคนจะมีรายได้ดีหมดถ้าราคายางดี เพราะคนที่นี่ มียางเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก จะเห็นได้ว่าที่นาที่ว่างต่างๆ ก็จะเจอสวนยางพอยางเยอะ คนก็จะมีรายได้จากสวนยางเยอะ พอชาวสวนยางมีเงินคนอาชีพอื่นก็พลอยมีเงินเยอะด้วย”

ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึงสาเหตุที่ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นว่า การปรับตัวขึ้นเป็นผลมาจากอุปทานยางเปลี่ยนไป ผู้ผลิตยางลดลง ขณะที่ความต้องการของผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ กล่าวได้ว่ามีปัจจัยที่ส่งผลต่อราคายางทั้งจากในและนอกประเทศ

“นโยบายชะลอการส่งออกมีการควบคุมปริมาณยางโดย 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ในปี 2559 มีปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้ราคายางพุ่งสูงขึ้นอีกหลายปัจจัย ได้แก่ ประเทศจีนซึ่งเร่งซื้อยางเพื่อนำไปผลิตเป็นล้อยางส่งไป สหรัฐฯ ก่อนที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีตามนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาด” ดร.ธีธัชกล่าว

อย่างไรก็ดี ดร.ธีธัชเตือนว่า ราคายางอาจมีการปรับตัวลงได้ หากปริมาณยางในตลาดมีมากจนถึงจุดอิ่มตัว

“ช่วงนี้ของทุกปีเป็นฤดูกาลที่ต้นยางให้ผลผลิตน้ำยางมากอยู่แล้ว ผลผลิตในตลาดจึงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำยางสดมีการปรับราคาลงบ้างในระยะหลังนี้” ดร.ธีรัชกล่าว

อย่างไรก็ตาม นางอาอีเสาะ แวมามะ ชาวยะลาเปิดเผยว่า ภาวะราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น มีข้อเสียแฝงอยู่ด้วย เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันเกิดการลักขโมยยางพาราเพื่อนำไปขายต่อ

“ราคายางดี พวกขโมยขี้ยางก็มา ตอนนี้ในพื้นที่ระบาดอย่างหนักทั้ง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้งสงขลา ลองไปถามชาวบ้านไม่มีพื้นที่ไหนเลยไม่เจอปัญหานี้ ที่เป็นแบบนี้เพราะคนติดยาเสพติดเยอะ ทุกอย่างที่เป็นเงินมันจะขโมยเพราะต้องการเงินไปเสพยา” นางอาอีเสาะกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง