ภาครัฐสำรวจปอเนาะ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษา

มารียัม อัฮหมัด
2018.06.25
ปัตตานี
180625-TH-pondok-school-1000.jpg เด็กนักเรียนปอเนาะดาลอ มาเยี่ยมชมโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยา ในอำเภอยะหริ่ง ปัตตานี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

พลตรีจตุพร กลัมพสุต ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจ ปัตตานี กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า หลังจากได้เปิดยุทธการตรวจสอบโรงเรียนปอเนาะ หรือโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปัตตานีจำนวนหลายโรงเรียนมาตั้งแต่ต้นปีนี้ พบว่าบางแห่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความรุนแรง แล้วยังพบว่าเด็กนักเรียนยังมีความสามารถเขียนอ่านภาษาไทยได้น้อยมาก เพราะการเน้นการศึกษาด้านศาสนา นอกจากนั้น โรงเรียนบางแห่งยังไม่จัดเลี้ยงอาหารเที่ยงให้กับนักเรียนแม้ว่าจะได้งบประมาณจากทางรัฐบาลแล้วก็ตาม

พล.ต.จตุพร กล่าวว่า โรงเรียนในพื้นที่หลายแห่ง จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเอง โดยมีชั่วโมงเรียนวิชาด้านศาสนาและวิชาสามัญในอัตราส่วนที่เท่ากัน และมีชั่วโมงเรียนน้อยกว่าโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศ

"ที่นี่ เรียนน้อยกว่าเด็กที่อื่นทั่วประเทศ ปีหนึ่ง 500 ชั่วโมง อันนี้มีหลักสูตรศาสนา 50 สามัญ 50 และเรายังพบปัญหาเชิงโครงสร้างหลายโรงเรียนกำหนดหลักสูตรเอง และเมื่อเข้าไปในโรงเรียนก็ยังพบปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" พล.ต.จตุพร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

พล.ต.จตุพร กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า มีการตั้งคณะกรรมการสองชุด คือ ระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานหนึ่งชุด และระดับพื้นที่มีผู้บัญชาการกองกำลังเป็นประธานอีกหนึ่งชุด เพื่อมาดูในรายละเอียดในแต่ละโรงเรียน เพื่อจะนำมากำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาการศึกษาให้เข้ามาอยู่ในกรอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะเริ่มจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและขยายยังจังหวัดใกล้เคียง

นางสาวซูวัยบะ มะเระปะแต ครูสอนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีโรงเรียนระดับประถมที่เป็นโรงเรียนของรัฐ 876 แห่ง มีนักเรียน 222,186 คน เป็นโรงเรียนเอกชน 59 แห่ง นักเรียน 31,346 คน รวมโรงเรียนของรัฐและเอกชนในระดับประถมศึกษามีทั้งสิ้น 935 แห่ง นักเรียน 253,532 คน

ในจำนวนนี้ มีศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดหรือตาดีกา จำนวน 1,666 แห่ง นักเรียน 174,395 คน มีโรงเรียนปอเนาะ จำนวน 375 แห่ง นักเรียน 34,394 คน และในระดับมัธยม โรงเรียนของรัฐ จำนวน 56 แห่ง นักเรียน 31,346 คน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนทั้งศาสนาควบคู่สามัญ จำนวน 158 แห่ง นักเรียน 129,784 คน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนศาสนาอย่างเดียว จำนวน 44 แห่ง นักเรียน 3,700 คน

"ยอมรับว่าเด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะในอดีตครูไม่ได้ใช้ภาษาไทยสอน ปัจจุบันหลายโรงเรียนได้ปรับวิธีการแล้ว โดยเน้นเป็นรายคน สำหรับเด็กที่มีปัญหาบางโรงเรียนแยกเด็กออก โดยให้เด็กที่เรียนดีอ่านออกเขียนได้อยู่กลุ่มหนึ่ง และจัดกลุ่มเด็กที่มัปัญหาอยู่อีกกลุ่มต่างหาก ซึ่งครูต้องเข้าหาเด็กเป็นรายคน" นางสาวซูวัยบะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"ผลสัมฤทธิ์ของการแก้ปัญหาการศึกษา นอกจากเด็กจะมีคุณภาพเรียนที่ดีขึ้น เด็กที่เรียนจบก็จะสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ อย่างน้อยเวลาไปติดต่อราชการก็จะสามารถสื่อสารได้ การแก้ปัญหาโดยรวมก็จะยังเน้นความสงบสุขก็เกิดขึ้นในพื้นที่ จนสามารถใช้วิธีปกติได้ " พล.ต.จตุพร แก่เบนาร์นิวส์กล่าวว่า

เด็กไม่ได้อาหารกลางวันในบางโรงเรียนแม้รัฐให้งบประมาณ

พล.ต.จตุพร เปิดเผยต่อไปอีกว่า ในโรงเรียนบางแห่ง ยังมีการฉ้อโกงงบประมาณ โดยการไม่จัดอาหารกลางวัน เสื้อผ้า หรืออุปกรณ์การเรียนการสอน แม้ว่าทางรัฐบาลได้ให้งบประมาณมอบให้เด็กนักเรียนต่อหัวคนละ 18,000 ต่อปี โดยผ่านทางโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกขน แต่ยังมีชาวบ้านที่ไม่ทราบเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

"แต่ละปีงบประมาณที่ลงมา ต่อเด็กในพื้นที่รายละ 80 เปอร์เซ็นต์ หรือ 18,000 บาท ของค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าชุดเสื้อผ้า ค่านม และค่าอาหารกลางวันเหมือนโรงเรียนรัฐ ตอนนี้ เรากำลังจะจัดระเบียบทั้งหมด เพื่อนำเข้ามาอยู่ในกรอบแล้วกำหนดนโยบายตามที่คณะกรรมการที่ลงไปตรวจสอบตอนนี้ เรานำร่องเฉพาะที่ปัตตานี และจะขยายต่อไปในจังหวัดยะลาและนราธิวาส" พล.ต.จตุพร กล่าว

อดีตนักเรียนรายหนึ่งของโรงเรียนบากงพิทยา อ.หนองจิก จ.ปัตตตานี ซึ่งถูกรัฐกล่าวหาว่า มีความสัมพันธ์กับขบวนการก่อความไม่สงบ กล่าวว่า ตนเองไม่เคยทราบถึงสิทธิของตนในส่วนนี้

"ผมพึ่งรู้ว่ารัฐอุดหนุนให้กับโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนปอเนาะ เรื่องของนม เรื่องอาหารกลางวันด้วย ที่ผ่านมา เด็กปอเนาะไม่เคยรู้เลยว่า มีอาหารกลางวันฟรีด้วย เพราะไม่เคยที่มีโรงเรียนไหนให้กินฟรีเลย" อดีตนักเรียนโรงเรียนบากงพิทยา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นอกจากนั้น พล.ต.จตุพร กล่าวว่า ยังมีรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนในโรงเรียนต่างๆ รวมทั้ง ในบางโรงเรียน มีเพียงชื่อของนักเรียนในทะเบียน แต่เจ้าตัวอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเป็นการฉ้อโกง ต้องดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา แต่ต้องดูเจตนาด้วย เพราะบางครั้งเด็กได้ขาดเรียนไปเอง

“ตอนนี้ เฉพาะที่อำเภอยะรัง ที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว มีบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ยังไม่ยืนยันว่ามาเรียน 1,300 คน จากนักเรียน ทั้งหมดหกพันกว่าคน” พล.ต.จตุพร กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า มีการใช้ครูอาจารย์ที่ไม่ได้มีความชำนาญหรือตรงกับวิชาที่สอน

“ครูสอนศาสนาไปสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เมื่อถามเหตุผลพบว่า ครูสอนวิชาประวัตศาสตร์เขาพูดภาษาเดียวกันกับเด็ก ครูสอนในห้องเมื่อพูดภาษาเดียวกันเด็กคุยรู้เรื่อง แต่พออ่านหนังสือเป็นภาษาไทยเด็กก็สับสน เลยทำให้เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” พล.ต.จตุพร กล่าว

นายมะซอบรี อาบู ผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่งในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ลูกชายของตนเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาในการเรียน เพราะอุปสรรคในการอ่านเขียนภาษาไทย

"ลูกชายเรียนจบชั้นประถมปีที่ 6 จากโรงเรียนรัฐในยะลา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้พูดภาษาไทยไม่ได้เลย พยายามส่งเขาเรียนชั้นมัธยม แต่เขาไปไม่ไหว เขาเรียน ชั้น ม. 1 ซ้ำชั้น 3 ปี จนเขาท้อ จนเขาอาย เลยขอไปทำงานในมาเลเซีย" นายมะซอบรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"ฉันคิดหนักเรื่องการศึกษาของลูก เพราะมั่นใจว่าการศึกษาจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย เห็นด้วยว่าถ้าจะมีการพัฒนาการศึกษาให้ดี ชาวบ้านทุกคนมีความหวังว่าลูกๆ ของเขาจะได้รับการศึกษาที่ดี และมีอนาคต ไม่ต้องมาลำบากเหมือนพ่อแม่ ไม่ต้องอดเหมือนคนรุ่นนี้" นายมะซอบรี กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง