ชายมาเลเซียนิยมแต่งภรรยาเพิ่ม ในห้าจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.09.15
สงขลา
TH-secret-wedding-1000 คู่บ่าวสาวชาวมาเลเซีย เดินจูงมือเข้าสู่พิธีแต่งงานที่มัสยิดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555
เอื้อเฟื้อภาพจาก มัสยิดในจังหวัดสงขลา

มัสยิดในห้าจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยหลายแห่ง ได้กลายมาเป็นสถานที่ที่เป็นที่นิยมในการประกอบพิธีนิกะฮ์หรือการแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลาม ของคู่รักชาวมาเลเซียมุสลิม โดยเฉพาะสำหรับชายชาวมาเลเซียที่มาแต่งภรรยาคนที่สอง สาม หรือสี่ เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ภรรยาหลวงคัดค้านการแต่งภรรยาเพิ่มของสามี และอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายในบ้านเมืองตนเอง เจ้าหน้าที่คณะกรรมการอิสลามกล่าว

นายศักดิ์กรียา บิลแสละ ประธานกรรมการมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การแต่งงานของชายชาวมาเลเซียส่วนใหญ่จะเป็นการแต่งครั้งที่สอง ส่วนการแต่งครั้งแรกนั้นมีน้อยมาก และที่มัสยิดกลางจังหวัดสงขลา ในวันหนึ่งๆ จะมีการแต่งงานสิบคู่หรือกว่าสิบคู่

“ส่วนใหญ่จะมาแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง ส่วนคู่บ่าวสาวใหม่มีน้อยมาก” นายศักดิ์กรียา กล่าวแก่เบนานิวส์

นายศักดิ์กรียา กล่าวอีกว่า ทางอิหม่ามต้องทำพิธีให้คู่บ่าวสาวให้ถูกต้องตามหลักศาสนา เมื่อคู่บ่าวสาวร้องขอ มิฉะนั้น การที่ปล่อยให้คู่หนุ่มสาวมีความสัมพันธ์กันโดยไม่ถูกต้องตามหลักศาสนานั้น ถือว่าเป็นบาปแก่อิหม่ามด้วย

“การที่ชาวมาเลเซียมาแต่งงานที่นี่มีหลายกรณี บางกรณีต้องทำ ถ้าเราไม่ทำถือว่าผิดหลักศาสนา เพราะทั้งที่รู้ว่าเขากำลังจะไปใช้ชีวิตคู่เป็นสามีภรรยากัน เขามาหาเราเพื่อให้ทำพิธีให้ถูกต้อง แต่เราไม่ทำเราก็บาป” นายศักดิ์กรียา กล่าวเพิ่มเติม

ปัญหาครอบครัว

การข้ามแดนมาแต่งงานในประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ชายชาวมาเลเซียรายหนึ่งกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ที่จังหวัดสงขลา

“เรื่องนี้มีมานานหลายสิบปีแล้ว เพราะมาเลเซียมีกฎหมายควบคุม ถ้าจะแต่งงงานคนที่สองต้องได้รับอนุญาตจากภรรยาคนแรก และต้องมีสถานะการเงิน และความเป็นอยู่ที่มั่นคง และต้องทำตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง” นายมูเก็ม อับดุลเลาะ ชายชาวมาเลเซียรายหนึ่งกล่าวต่อว่า ชายชาวมาเลเซียอาศัยช่องว่างที่มี โดยการออกมาแต่งงานนอกสถานที่ นอกประเทศอย่างที่หลายคู่นิยมทำมา ซึ่งจริงๆแล้วผิดกฎหมาย แต่ศาสนาไม่ได้ห้าม

ทางกงสุลมาเลเซียประจำประเทศไทยในจังหวัดสงขลา จะรับรองการแต่งงานของชาวมาเลเซียอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ในเบื้องต้น ต่อการแต่งงานตามมัสยิดในจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เท่านั้น

เจ้าหน้าที่กงสุลมาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา เปิดเผยตัวเลขการแต่งงานของชาวมาเลเซีย ในจังหวัดชายแดนใต้ ที่รายงานกับทางสถานกงสุลแล้ว ในปี 2558 ทั้งปี จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ ว่ามีจำนวนกว่า 6,000 คู่ ยังไม่นับรวมการแต่งงานที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ลงทะเบียนให้ทางสถานกงสุลทราบ นายอาฟานดี อาบู เบคเกอร์ กล่าวแก่สำนักข่าวเบอร์นามา ของประเทศมาเลเซีย

“คู่รักที่แต่งงานโดยไม่จดทะเบียนการแต่งงานกับทางสถานกงสุล จะเจอปัญหาการรับรองการแต่งงาน เมื่อกลับไปมาเลเซีย” เจ้าหน้าที่กงสุลกล่าว

เจ้าหน้าที่ไทยและมาเลเซียร่วมประชุม

เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียได้กล่าวในการสัมมนาที่มีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม สำหรับนายทะเบียนผู้จดทะเบียนการแต่งงานและคณะกรรมการศาสนาอิสลามจากห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าทั้งสองประเทศจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้เป็นการรับรองการแต่งงานเป็นไปอย่างถูกต้องกับในประเทศมาเลเซียด้วย สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซีย รายงาน

การแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถสร้างปัญหาให้กับภรรยาและบุตร นายยามิล เคอร์ บาฮารอม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเลเซีย กล่าว ดังนั้น จึงเสนอให้มีการสร้างกลไกร่วมกับคณะกรรมการศาสนาอิสลามจากห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการแต่งงานและการหย่าร้างของคู่แต่งงานชาวมาเลเซีย

คู่แต่งงานที่ไม่มีการจดทะเบียนแต่งงานกับรัฐบาลมาเลเซีย อาจต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากในการลงทะเบียนการเกิดบุตร แม้ว่าการแต่งงานนั้น จะได้รับการยอมรับตามศาสนาอิสลามก็ตาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเลเซีย กล่าวแก่สำนักข่าวเบอร์นามา

“เพราะมีชาวมาเลเซียแต่งงานในภาคใต้ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี เราต้องแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต" นายยามิล เคอร์ บาฮารอม กล่าว

"ปัญหาจะยุ่งยากขึ้นเมื่อเกิดการตายหรือหย่าร้าง ซึ่งทำให้การระบุทายาทในการรับมรดกเกิดปัญหาขึ้น"

แต่งงานแบบสายฟ้าแลบ

หนึ่งในบรรดานักธุรกิจชายชาวมาเลเซียผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ที่ข้ามแดนมาแต่งภรรยาใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ตนเองแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เมื่อปี 2556 หลังจากที่ภรรยาหลวงไม่อนุญาตให้แต่งภรรยาใหม่

และบอกอีกว่า ปัจจุบันภรรยาหลวง ยังไม่รู้ว่าตนมีภรรยาใหม่เพิ่มแล้ว – เขาไปหาภรรยาใหม่สัปดาห์ละสองครั้ง ระหว่างการเดินทางไปติดต่อธุรกิจ ที่ทางเหนือของรัฐเปรัค ที่เธออาศัยอยู่

ซึ่งตนเองได้ใช้บริการของเอเย่นต์จัดการแต่งงานในโกตาบารู รัฐกลันตัน ที่มีเขตแดนอยู่ตรงข้ามประเทศไทย

“กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว เราออกจากโกตาบารูแปดโมงเช้า พอตกบ่ายเราเป็นสามีภรรยากันเรียบร้อยแล้ว” ชายมาเลเซียคนดังกล่าว เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง "เราใช้เพียงบัต​​รประจำตัวประชาชนของเรา และพยานสองคน มาร่วมยืนยัน – เท่านั้นเอง”

“ค่าใช้จ่ายถูก เราจ่ายเงินประมาณ 1,200 ริงกิต (ประมาณ 10,100 บาท) สำหรับค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน อาหาร และค่าธรรมเนียมให้แก่คณะกรรมการศาสนาอิสลาม”

เมื่อกลับถึงมาเลเซียทั้งสองคน ไปจ่ายค่าปรับที่ศาลอิสลามคนละ 1,000 ริงกิต (ประมาณ 8,400 บาท) แล้วไปจดทะเบียนสมรสกับสภาศาสนาของมาเลเซีย

ไฮรีซ อาซีม อซิซิ ในกัวลาร์ลัมเปอร์ มีส่วนในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง