“หมวดเจี๊ยบ” พบตำรวจรับทราบข้อหายุยงปลุกปั่น และผิดพรบ.คอมฯ
2017.12.13
กรุงเทพฯ

ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยทนายความ เข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2560 นี้ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในฐานความผิดตามมาตรา 14(2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และมาตรา 116 ในข้อหายุยงปลุกปั่น จากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัว รวมข้อกล่าวหา 6 กระทงความผิด หากผิดจริงจะต้องรับโทษถึง 42 ปี โดยมีผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ และองค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมสังเกตการณ์
ในคดีนี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ให้ดำเนินคดีกับ ร.ท.หญิง สุณิสา ในการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จำนวนสามบทความ ซึ่งรองโฆษกพรรคเพื่อไทยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การในชั้นศาล
“วัตถุประสงค์หลักในการโพสต์เป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเรื่องการใช้งบประมาณของแผ่นดิน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำได้ เพราะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐบาล ไม่ได้ใส่ร้าย หรือโจมตีใครในเรื่องส่วนตัว แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และรัฐบาลควรรับฟังเพื่อนำไปแก้ปัญหา” ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวกับผู้สื่อข่าว
“การดำเนินคดีความมั่นคงขณะนี้ มีการแจ้งข้อกล่าวหากับดิฉันถึงหกกระทงความผิด นับรวมทั้งหมดดิฉันอาจต้องรับโทษถึง สี่สิบสองปี ถือว่าเป็นอีกครึ่งชีวิตของคนๆ หนึ่ง” ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นายทหารพระธรรมนูญระบุว่า รองโฆษกพรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว ในสามช่วงเวลา โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ได้โพสต์วิจารณ์รัฐบาลทหารที่ไม่สามารถอธิบายการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารได้ ระบุว่า การซ่อมจนตาย อาจส่งผลกระทบต่อการเกณฑ์ททหารของประเทศ และหากญาติพี่น้องไม่ยอมอาจโดนนำไปปรับทัศนคติ จากนั้นวันที่ 3 ธันวาคม ได้โพสต์วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐบาลที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องพึ่งพาการบริจาคจากประชาชน และในวันที่ 4 ธันวาคม เป็นการโพสต์วิจารณ์การเลือกปฏิบัติของนายกรัฐมนตรี ในการต้อนรับนักร้องเพลงร็อคยอดนิยม ที่ทำเนียบรัฐบาล จากการที่วิ่งระดมทุนให้กับโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ แตกต่างจากการที่เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ และทหารนำกำลังเข้าจับกุมตัวแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ขณะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการติชมโดยสุจริต แต่เป็นการยุยงปลุกปั่น ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนต่อรัฐบาล เข้าข่ายความผิดในฐานความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวแย้งว่าการดำเนินการทางคดี มีเหตุจูงใจด้วยเหตุผลทางการเมือง
“ดิฉันเชื่อว่าการตั้งข้อหามีแรงจูงใจทางการเมือง เนื่องจากตัวดิฉันเองมีความชัดเจนในการทำหน้าที่รองโฆษกของพรรคเพื่อไทย และมีหน้าที่โดยตรงในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของรัฐบาล แต่โดนกระทำเช่นนี้” ร.ท.หญิง สุณิสากล่าว
ด้าน พลตรีปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 และทีมโฆษกคสช. กล่าวในก่อนหน้านี้ว่า คสช. ดำเนินการต่อผู้กระทำผิดกฎหมายโดยผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ดำเนินการด้วยความรู้สึก หรือเป็นการกลั่นแกล้ง
เสรีภาพกับความมั่นคงของรัฐ
ก่อนหน้าที่ ร.ท.หญิง สุณิสา เดินทางเข้าไปรับทราบข้อหา ฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ผ่านบทความ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยกเลิกการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น และความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กับนักการเมืองที่แสดงความเห็นผ่านหน้าเฟสบุ๊ค เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง
“การดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กับนักการเมือง ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าเฟสบุ๊ค แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไทยดูหมิ่นเหยียดหยามเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ทางการควรยกเลิกการดำเนินคดีใดๆ ต่อ ร.ท.หญิง สุณิสาโดยทันที”
ส่วน นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของ ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการรับทราบข้อกล่าวหา “เป็นมาตรา ที่เอาไว้ใช้กำจัดนักการเมือง”
นายนรินท์พงศ์ กล่าวต่อด้วยว่า การใช้มาตรา 116 ในกรณีนี้ เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาที่เกินความจริง เพราะสามโพสต์ดังกล่าวไม่น่าเกี่ยวข้องกับการยุยง ปลุกปั่น ขนาดที่จะทำให้เกิดความระคายเคืองหรือกระทบกับความมั่นคงของรัฐ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 116 และ พรบ.คอมฯ นี้ มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากนักการเมือง หรือผู้ที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหาร
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุด้วยว่า นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทางการได้ดำเนินคดีต่อบุคคลอย่างน้อย 40 คน ตามความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี กับบุคคลหลากหลายอาชีพ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคเพื่อไทย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของเฌอ ผู้เสียชีวิตในเหตุสลายผู้ชุมนุม ปี 2553 นายวัฒนา เมืองสุข นักการเมือง นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ