สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ระดมความคิดเห็น หาทางหยุดการปลุกระดมด้วยสื่อออนไลน์
2016.05.26
ปัตตานี

ในวันพฤหัสบดี (26 พ.ค. 2559) นี้ ที่จังหวัดปัตตานี คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้สื่อออนไลน์กับการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. กล่าวว่า สถานการณ์การใช้สื่อออนไลน์กับการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงเป็นสิ่งใหม่ และยังไม่มีกฎหมายรองรับ แม้จะมีกฎหมายบางมาตราที่ใช้ได้ ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการมากพอ ซึ่งปัจจุบัน ผู้เห็นต่างจากรัฐใช้เครื่องมือสื่อสารหลากหลายชนิดขึ้น เช่น อินเตอร์เน็ต สื่อโซเชียลมีเดีย ในการปลุกระดมที่ทำอย่างสะดวก รวดเร็ว และเจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวได้ยาก
“สปท. จึงศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อปฏิรูปการใช้สื่อออนไลน์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีสองประเภท คือ ภาพรวมการใช้เครื่องมือแบบเดิม และการบูรณาการการใช้ความรู้เชิงสอบสวน เพื่อยับยั้งการปลุกระดมและการก่อความไม่สงบในพื้นที่” พลตำรวจตรีพิสิษฐ์กล่าว
พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เพิ่มเติมว่า สปท. เสนอให้ใช้พระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในการกำกับดูแลการใช้งานอินเตอร์เน็ต และเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการเรียกข้อมูลโดยตรง เมื่อสงสัยว่าเกิดการกระทำความผิด โดยไม่ต้องผ่านกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้ยับยั้งได้ทันท่วงที
โดยในเวทีหารือเห็นพ้องกันว่า สื่อโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อประชาชนมาก เนื่องจากใช้ประโยชน์ได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงตัวบุคคลได้ทุกเวลาและทุกสถานการณ์ เห็นว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น รัฐต้องปฏิรูปการใช้สื่อในทางที่ผิด เพื่อระงับการปลุกระดมแบ่งแยกดินแดน
“เห็นด้วยถ้าจะมีการระงับสื่อออนไลน์ที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับพื้นที่ เพราะสื่อเหล่านี้ เข้าถึงเป้าหมายได้ทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นมุมบวกและมุมลบ ไม่อยากให้มีการปฏิรูปเฉพาะสื่อของกลุ่มขบวนการอย่างเดียว อยากให้ทำทั้งหมด จะได้ไม่มองว่าตั้งใจทำเฉพาะกลุ่ม” นางชไมพร สมพู่ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้านนายสุไลมาน เจะโซ๊ะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะว่าผู้ใช้สื่อคนใดเป็นกลุ่มใด
“ต้องทำกับสื่อออนไลน์ของทุกกลุ่ม ไม่ใช่ทำเฉพาะเรื่องความมั่นคง กลุ่มที่พยายามนำเรื่องศาสนามาปนกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง รัฐจะแยกให้อยู่กลุ่มไหน” นายสุไลมาน กล่าว
เอ็นจีโอแสดงความกังวลต่อร่างแก้ไข พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550
ในวันเดียวกันนี้ ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรเวซี อินเตอร์เนชั่นแนล (Privacy International) ยื่นข้อเสนอแนะต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และพลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ฉบับ...แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีการแก้ไขเนื้อหาในบางมาตราของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่อาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัว
สำหรับข้อกังวลนั้น มีอยู่ตรงสามมาตรา คือ หนึ่ง มาตรา 14 ที่อาจถูกตีความเพื่อใช้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดำเนินคดีอาญากับผู้โพสต์ข้อมูลทางออนไลน์ที่ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เห็นว่าเป็นคำที่มีความหมายกว้างและคลุมเครือ
สอง มาตรา 15 ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการ (Internet Service Providers) ต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่ได้ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น เป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่ผู้ให้บริการ
และสาม มาตรา 20 เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าไม่ได้ขัดต่อกฎหมายใดก็ตาม