พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่น กับทหารที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิต
2019.12.23
ปัตตานี

ในวันจันทร์นี้ พล.ต.ต. นรินทร์ บูสะมัญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาฆ่าคนตายต่อนายทหารสัญญาบัตรและอาสาสมัครทหารพราน รวมสองนายแล้ว โดยพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำฝ่ายทหารไปบางส่วนและจะสอบปากคำฝ่ายผู้เสียหายต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่สังกัดกรมทหารพรานที่ 45 ยิงชาวบ้านที่ขึ้นไปตัดไม้บนเทือกเขาตะเว หลังหมู่บ้านอาแน ในอำเภอระแงะ นราธิวาส เสียชีวิตสามราย โดยใจผิดว่าเป็นกลุ่มก่อคาวมไม่สงบ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 นี้ เจ้าหน้าที่ทหารพรานชั้นสัญญาบัตรหนึ่งนายและอาสาสมัครทหารพรานอีกหนึ่งนาย ได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส แล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้
“ตอนนี้ รับมอบตัวผู้ต้องหา เป็นทหาร 2 นาย พร้อมของกลางอาวุธปืน ได้ส่งตรวจพิสูจน์ มีการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นคดีอาญาทั่วไป คดีฆ่าผู้อื่น และแยกคดีชันสูตรพลิกศพ ตอนนี้ได้ปล่อยตัว เพราะการมามอบตัวครั้งนี้ เป็นคดีอาญาทั่วไป” พล.ต.ต.นรินทร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ส่วนข้อเท็จจริง ฝ่ายทหารกำลังรวบรวมอยู่ ของฝ่ายชาวบ้านก็ต้องไปสอบปากคำพี่น้อง สอบปากคำผู้นำ สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็จะมีการนำเสนอข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่าย เราจะนำเสนอขึ้นหมดเลยเหมือนคดีอาญาทั่วไป... สำหรับความคืบหน้า เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำผู้ต้องหา ฝ่ายทหารแล้วสามปาก เหลืออีก 5 ปาก ที่ต้องสอบเพิ่มเติม” พล.ต.ต.นรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกันนี้ พันเอก ธีร์พัชร์ เอมพันธ์ ผู้บังคับการ กรมทหารพรานที่ 45 และ พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งได้มอบเงินชดเชยเบื้องต้นส่วนเหลือ จนครบ 500,000 บาทต่อครอบครัวแล้ว และได้ขอโทษต่อครอบครัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ทางเจ้าหน้าที่ทหารยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จึงลงพื้นที่ร่วมกับ ศอ.บต. เพื่อมาขอโทษครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมดูแลทุกอย่างตามกำลังที่มี” พันเอกธีร์พัชร์ กล่าว และระบุอีกว่า จะนำเจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยสร้างบ้านให้ครอบครัวนายบูดีลัน มะลี หนึ่งในผู้เสียชีวิต ซึ่งมีภรรยาและบุตร อายุ 1 ปี 2 เดือน เพื่อให้มีบ้านเป็นของตนเองตามความหวังของครอบครัวอีกด้วย
ทั้งนี้ พันเอกธีร์พัชร์ กล่าวอีกว่า ได้แบ่งเงินเยียวยาเบื้องต้นจำนวน 500,000 บาท ออกเป็นส่วนๆ ให้แก่บิดามารดา ภรรยา และบุตรผู้เสียชีวิตเท่าๆ กัน
ด้าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า “วันนี้ เป็นการเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ทั้ง 3 ครอบครัว ที่เป็นทายาท ในการช่วยเหลือเยียวยาด้วยทุนเป็นการช่วยเหลือตามระเบียบ กพต. ซึ่งเป็นระเบียบของทางราชการ ซึ่งต้องแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นอย่างมากที่สุด”
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ ได้สำรวจสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ระเบียบราชการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นการช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ ซึ่งภาครัฐตั้งใจที่จะช่วยเหลือทุกมิติ อาทิ การหางานแก่พี่น้องของผู้เสียชีวิตที่ยังว่างงาน ประสานโรงพยาบาลในพื้นที่ให้ช่วยดูแลพ่อแม่ของทั้งสามครอบครัว ซึ่งมีโรคประจำตัว และบางครอบครัวมีอาการเจ็บป่วย ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้
อย่างก็ตาม บิดาของผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง (ไม่ประสงค์ออกนาม) กล่าวว่า ตนอยากให้ทหารที่ลงมือยิงมาขอโทษครอบครัวด้วยตนเอง และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
“เงินเยียวยาได้รับแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการ คือ ทหารที่ยิงพวกเขามาขอโทษพวกเรา และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ชาวบ้านยังติดใจ ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พรุ่งนี้ครบรอบ 7 วันแล้ว จะมีการทำบุญให้คนตายและมีการละหมาดขอพร มีความหวังว่ากองทัพบกจะนำทหารที่ยิงพวกเขาทั้งสามมาขอโทษต่อหน้าทุกคนและสื่อ ที่หมู่บ้าน” บิดาของผู้เสียชีวิตรายหนึ่งกล่าว
สำหรับรายชื่อของผู้เสียชีวิต 3 ราย คือ 1. นายฮาพีซี มะดาโอะ อายุ 24 ปี 2. นายบูดีมัน มะลี อายุ 26 ปี และ 3. นายมะนาซี สะมะแอ อายุ 27 ปี
ขณะเดียวกัน พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งได้เดินทางพร้อมคณะที่ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวยอมรับข้อความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และแสดงความเสียใจต่อครอบครัว
“กรณีเหตุการณ์ที่เขาตะเว จ.นราธิวาส ผมในนามของผู้บัญชาการทหารบก ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง... ส่วนสิ่งที่เป็นข้อผิดพลาด กองทัพและผู้ปฏิบัติขอน้อมรับในความผิดพลาดดังกล่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผิดพลาด เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับโทษและรับการตัดสินตามกระบวนการกฎหมาย ไม่มีการช่วยเหลือหรือข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น” พลเอกอภิรัชต์ กล่าวในระหว่างการตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
“สิ่งสำคัญที่ได้เน้นย้ำกับผู้ปฏิบัติทุกคน ไม่เฉพาะที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ เรื่องกฎการปะทะ กองกำลังตามแนวชายแดนในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหารทุกคน ต้องเข้าใจกฎการปะทะว่าคืออะไร สิ่งที่ต้องปฏิบัติ ขั้นตอนเป็นอย่างไร ซึ่งหลังจากนี้ หากใครละเลยต้องรับโทษตามกฎหมาย” พลเอกอภิรัชต์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ได้เหตุการณ์ยิงผิดตัวเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงชาวบ้านขณะจะไปละหมาดศพ เหตุเกิดใน ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย และมีผู้รอดชีวิต 1 ราย เหตุการณ์ที่สอง เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 โดยเจ้าหน้าที่ได้ยิงชาวบ้านเสียชึวิต 2 ราย และนักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี เสียชีวิตอีก 2 ราย ในระหว่างการปิดล้อมหมู่บ้านโต๊ะชุด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อค้นหาผู้ก่อความไม่สงบ เหตุการณ์ที่สาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 ซึ่งชาวบ้านถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ขณะนั่งรถยนต์กระบะเพราะเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านตรวจเข้าใจผิดสงสัยว่าเป็นรถยนต์ของคนร้ายขับผ่านด่าน เหตุเกิดบริเวณ ต.กระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี และล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุยิงคนตัดไม้เสียชีวิต 3 ราย บนเทือกเขาตะเว