กอ.รมน.ภาคสี่ ส่วนหน้า เรียกตัวชายไทยมุสลิมปรับทัศนคติ ฐานหมิ่นเหม่ต่อการแบ่งแยกดินแดน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.07.07
ปัตตานี
TH-south-attitude-620 ภาพชาวไทยมุสลิมที่สวมเสื้อยืดที่มีภาพแผนที่ และข้อความที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำฐานแบ่งแยกดินแดน ที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย วันที่ 7 ก.ค. 2559
ภาพจากโซเชียลมีเดีย/เบนาร์นิวส์

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค. 2559 ) นี้ว่า ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่เรียกตัวบุคคลที่ใส่เสื้อที่มีภาพ-ข้อความที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดฐานแบ่งแยกดินแดน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีการขึ้นป้ายเรียกร้องการตัดสินใจด้วยตนเอง ที่มัสยิดบ้านท่าด่าน ในจังหวัดปัตตานี

ในวันนี้ ได้มีการเผยแพร่ภาพชายชาวไทยมุสลิมใส่เสื้อที่มีรูปห้าจังหวัดชายแดนใต้ ที่ประกอบด้วย ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา และสตูล พร้อมอักษรยาวีและมลายูที่อกด้านซ้าย มีใจความว่า “ดินแดนอาณาจักรมลายูตอนเหนืออันยิ่งใหญ่” ส่วนด้านล่าง มีภาพแผนที่ห้าจังหวัดชายแดนใต้ เป็นสีขาวบนแผนที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยและมาเลเซียที่เป็นสีแดง บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งนำไปสู่การตีความหมายว่าเป็นการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน

ในอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นที่มัสยิดบ้านท่าด่าน ในอำเภอยะหริ่ง ปัตตานี ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพื้นที่โรงเรียนญิฮาดวิทยา ที่ถูกทางการยึด เพราะถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกกองโจรแบ่งแยกดินแดนมากนัก โดยมีการนำป้ายผ้าที่มีข้อความภาษาอังกฤษว่า Self Determination ที่แปลว่า การตัดสินใจในการกำหนดตนเอง และยังเขียนเป็นภาษาอาหรับ นำมาจากอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัรเราะอฺค์  มีความหมายว่า “แท้จริงอัลลอฮ์จะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง” และยังมีคำกล่าวต้อนรับเทศกาลตรุษอิฎิลฟิตรีด้วย

ส่วนนายบันยาล แวมะนอ หนึ่งในสมาชิกครอบครัวโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยา กล่าวว่า “รู้สึกงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าทำไมป้ายสามารถแขวนที่อื่นได้ แต่พอมาแขวนที่นี่ ถึงเป็นเรื่อง ทำให้เกิดคำถามตลอดว่า ทำไม ผมไม่เข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

เจ้าหน้าที่ทหารถอดป้ายผ้า บริเวณมัสยิดท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 (เบนาร์นิวส์)

“ทางฝ่ายความมั่นคงทราบเรื่องนี้แล้ว และรู้ตัวคนที่สวมเสื้อถ่ายรูปทั้ง 5 คนว่าเป็นใคร เบื้องต้น ได้ให้หน่วยระดับพื้นที่เชิญตัวมาพูดคุย เพราะเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย” พ.อ.ปราโมทย์ โฆษก ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซึ่งขณะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กำลังให้ฝ่ายกฎหมายตีความว่า คำๆ นี้ เข้าข่ายผิดกฎหมายไทย หรือเข้าข่ายเป็นกบฏหรือไม่

“เรากำลังเรียกตัวผู้ที่กระทำทั้งสองกรณีมาพูดคุยปรับทัศนคติ เพราะแม้เป็นพื้นที่ทั่วไปที่ไม่มีสถานการณ์ความไม่สงบ ก็เข้าใจว่าน่าจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อมาทำในพื้นที่ที่มีสถานการณ์พิเศษ และประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็น่าจะมีความผิดแน่นอน ฉะนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ต้องดำเนินการ” พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวเพิ่มเติม

ส่วนรายชื่อผู้ที่สวมเสื้อถ่ายรูปทั้ง 5 คน ตามภาพด้านบน จากซ้ายไปขวา คือ นายทวีศักดิ์ ปิ นายซาฮารี เจ๊ะหลง นายฮาซัน ยามาดีบุ คนที่สี่ไม่ทราบชื่อ และนายชารีฟ สะอิ (ขวาสุด)

พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่กรุงเทพ กล่าวว่า การแชร์ภาพที่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้นไม่สมควร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

“ภาพข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ไม่ส่งผลดีต่อสังคมไทยโดยรวม อาจจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความเข้าใจผิดได้ จึงขอให้พี่น้องประชาชนรับรู้ข่าวสารด้วยความระมัดระวัง อย่าได้หลงเชื่อผู้ไม่หวังดีที่สร้างข่าวเท็จ กอ.รมน.จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงให้พี่น้องประชาชนทราบในโอกาสต่อไป” พ.อ.พีรวัชฌ์ กล่าวเพิ่มเติมต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพ

หนึ่งในกลุ่มผู้โพสต์ภาพเสื้อยืด ได้กล่าวแย้งว่า เสื้อยืดดังกล่าวนั้น สำนักบุหงารายอเพื่อการศึกษาและมูลนิธิตาดีกา 5 จังหวัด (ตาดีกา หมายถึงโรงเรียนอนุบาล) ได้ร่วมกันจัดทำ ซึ่งมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แบ่งพื้นที่เขตการศึกษาเป็นห้าจังหวัด

“เสื้อดังกล่าว สำนักบุหงารายอเพื่อการศึกษา ซึ่งทำงานกับมูลนิธิตาดีกา 5 จังหวัด ทำเป็นแผนที่การทำงานของตาดีกา ทั้งห้าจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษาที่มูลนิธิตาดีกาทำงาน”

นับตั้งแต่ ทหารได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการเรียกตัวหรือนำตัวผู้แสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อดีตนักการเมือง และผู้สื่อข่าว เพื่อพูดคุย"ปรับทัศนคติ" โดยหลังจากวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาประยุทธเข้ายึดอำนาจนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ผู้นำพรรคเพื่อไทยอีก 22 คน ถูกเรียกตัวเพื่อพูดคุย และจากนั้นเป็นต้นมา มีผู้ถูกเรียกตัวเพื่อปรับทัศนคติ ไม่ว่าจะถูกนำไปค่ายกองพันทหาร หรือโดยมีทหารเดินทางไปรับตัวถึงบ้านมาแล้ว จำนวนกว่า 900 ราย จากข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (หรือ iLaw) และกลุ่มสิทธิมนุษยชน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง