วัฒนารับทราบข้อหา ม.116 จากการโพสต์เรื่องหมุดคณะราษฎร์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.08.21
กรุงเทพฯ
TH-watana-1000 นายวัฒนา เมืองสุข พูดคุยกับผู้สื่อข่าวขณะเดินทางเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ บก.ปอท. วันที่ 21 สิงหาคม 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (21 สิงหาคม 2560) นี้ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อหายุยงปลุกปั่น จากการโพสต์เฟซบุ๊คเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎร ขณะที่ 5 นักวิชาการ ที่เชียงใหม่ ถูกแจ้งข้อหาขัดคำสั่งคสช. ฐานชูป้ายแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ให้เวลานายวัฒนาระยะหนึ่ง ตามหมายเรียกให้มามอบตัวและให้การเพิ่มเติม ซึ่งนายวัฒนาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปอท. เอาผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว เรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎร เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560

“เรียกมาเพื่อสอบคำให้การเพิ่มเติม ผมยืนยันว่า ผมไม่ประสงค์จะให้คำให้การเพิ่มเติม จะให้การเป็นหนังสือ 1. ผมไม่มีพฤติกรรมหลบหนี 2. ผมไม่มีสิทธิไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพราะพยานหลักฐานคือข้อความที่ผมโพสต์แล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ส่วนพยานบุคคลก็คือ คสช. ที่มาแจ้งความผม ผมไปยุ่งกับเขาได้ที่ไหน มีแต่ไประรานคนอื่นเขา..” นายวัฒนากล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

นายวัฒนา ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นฝากขังตนเองเป็นหนึ่งในความพยายามของฝ่ายรัฐ ที่จะสร้างความหวาดกลัวเพื่อควบคุมประชาชน ก่อนถึงวันอ่านคำพิพากษา 25 สิงหาคม 2560 ของคดีรับจำนำข้าว ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย

“เรื่องทั้งหมดเป็นความพยายามของรัฐที่จะสร้างความหวาดกลัว ประชาชนมาฟังการพิจารณาโดยสงบเป็นปีแล้วไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย แล้วประชาชนไม่เคยคิดไปแทรกแซง กดดันดุลยพินิจของศาล” นายวัฒนากล่าวเพิ่มเติม

หลังจากการเข้าพบเจ้าหน้าที่ของนายวัฒนา พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องของฝากขังนายวัฒนา ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) โดยเหตุผลการฝากขังเนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น

นอกจากนี้ พ.ต.ท.กฤช ยังได้ขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นที่สนใจของประชาชน มีอัตราโทษอย่างสูงเกิน 3 ปี และผู้ต้องหากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันหลายครั้ง ซึ่งศาลได้อนุมัติการฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายวัฒนาชั่วคราว ด้วยวงเงินประกัน 2 แสนบาท

แจ้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. ต่อ 5 นักวิชาการ ที่เชียงใหม่

ในวันเดียวกันนี้ นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล 5 ราย ประกอบด้วย นายชยันต์ วรรธนะภูติ, 74 ปี นายนลธวัช มะชัย นายชัยพงษ์ สำเนียง นายธีรมล บัวงาม และนางภัควดี วีระภาสพงษ์ ซึ่งร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดระหว่างวันที่ 13-18 กรกฎาคม 2560 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558

การตั้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ มาจากการที่ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ภายในงานประชุมวิชาการ และถ่ายภาพเผยแพร่สู่อินเตอร์เน็ตในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ พนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก ระบุต่อสื่อมวลชนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

โดยพนักงานสอบสวนแจ้งต่อผู้ต้องหาว่า หากผู้ต้องหาสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหมดปฎิเสธการเข้ารับการอบรม ให้การปฏิเสธข้อหา และแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง ซึ่งพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ปล่อยตัวนักวิชาการทั้ง 5 คนโดยไม่มีเงื่อนไข และนัดพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน 2560

เลื่อนสืบพยานปากแรกคดี กิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก

ขณะที่ นัดสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งมี นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และ นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ เป็นจำเลย ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญผู้กล่าวหา และพยานปากแรกไม่เดินทางมาศาลตามนัด ด้วยเหตุผลว่า พ.อ.บุรินทร์ติดราชการด่วน

การฟ้องร้องในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันจัดกิจกรรม“เลือกตั้งที่(รัก)ลัก” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ภายหลังถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโฆษะ และนำมาสู่การรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการกระทำของจำเลยทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องฐานกระทำการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 “ห้ามชุมนุมทางการเมือง”

อัยการส่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมนี้ อัยการจังหวัดพล ได้นำตัวผู้ต้องหาที่ก่อคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ อำเภอชนบท และอำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น รวม 8 ราย ไปฟ้องศาล ในสามคดี เหตุทั้งสามเกิดขึ้นเมื่อเดือนราวกลางพฤษภาคม ศกนี้ ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กชายวัย 14 ปี นั้น ได้แยกดำเนินการที่ศาลเยาวชน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง