กสทช. ยังไม่ลงโทษเฟซบุ๊ค เพราะให้ความร่วมมือปิดเว็บผิดกฎหมาย
2017.05.16
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (16 พฤษภาคม 2560) นี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เฟซบุ๊คให้ความร่วมมือในการปิดเว็บผิดกฎหมายดี จึงยังไม่มีการลงโทษใดๆ แม้ว่าเหลือ 131 ยูอาร์แอล (Uniform Resource Locator) ผิดกฎหมายที่ยังไม่ถูกปิดก็ตาม โดย 3 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการปิดไปแล้ว 6,300 ยูอาร์แอล
ทั้งนี้ ภายหลังที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล ได้มีความเข้มงวดในการติดตามกลุ่มเว็บไซต์หรือการโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหายุยงปลุกบั่น หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือผิดกฎหมายอื่นๆ
ในวันนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วยตัวแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ได้เดินทางไปยังสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทยเพื่อติดตามการดำเนินการของเฟซบุ๊ค
เมื่อเสร็จสิ้น นายฐากร กล่าวว่า สามารถประสานกับสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทยให้ปิดเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ค ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมแล้วประมาณ 6,300 ยูอาร์แอล แต่ยังเหลือที่ไม่เหมาะสมอีก 131 ยูอาร์แอล โดยในนั้น 34 ยูอาร์แอล มีหมายศาลสั่งให้ปิดแล้ว รอการนำส่งให้เฟซบุ๊คทราบ และอีก 97 ยูอาร์แอล อยู่ในขั้นตอนการขอหมายศาล
“ก่อนหน้านี้ส่งไปแล้ว 6,300 กว่ายูอาร์แอล เฟซบุ๊คปิดแล้วทั้งหมด ส่วน 131 ยูอาร์แอลที่ค้างอยู่ ทางเฟซบุ๊คให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ 131 ยูอาร์แอล รายละเอียดทั้งหมดยังขาดหมายศาลอยู่” นายฐากร กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้
“เมื่อวาน กระทรวงดีอีมีการส่งหมายศาลเพิ่มเติมมาอีก 34 ยูอาร์แอล รอได้เอกสารตัวจริง พอได้เอกสารตัวจริง เราก็จะส่งไปให้ทางสมาคมฯ สมาคมฯ ก็จะส่งไปให้ทางเฟซบุ๊ค เฟซบุ๊คจะมีกระบวนการ คือ เขาจ้างสำนักงานกฎหมายไทยในการแปลหมายศาลอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการแปลเสร็จแล้วว่า คือหมายศาลที่ถูกต้องตามกระบวนการ ก็จะปิดเว็บไซต์ลง” นายฐากร กล่าวเพิ่มเติม
แคลล์ แวริง โฆษกของเฟซบุ๊ค ประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางอีเมลว่า เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่าการโพสต์ทางอินเทอร์เน็ตเป็นการละเมิดกฎหมายของประเทศ พวกเขาอาจจะขอให้บริษัทเฟซบุ๊ค จำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้น
"เมื่อเราได้รับคำขอดังกล่าว เราจะทบทวนเพื่อพิจารณาว่า เนื้อหาเหล่านั้นเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่" แวร์รี่กล่าว "ถ้าเราพิจารณาแล้วว่า ใช่ เราก็จะดำเนินการปิดเนื้อหาในประเทศนั้นหรืออาณาเขตที่เกี่ยวข้อง และแจ้งสาเหตุแก่ผู้ที่พยายามเข้าใช้ ถึงข้อจำกัด"
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช. ได้เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเตรียมบล็อคโพสต์บนเฟซบุ๊ค 131 โพสต์ หากว่าไม่ได้รับการตอบสนองในทางบวกจากเฟซบุ๊ค ก็จะดำเนินมาตรการเอาผิดกับเฟซบุ๊คประเทศไทย
นายฐากรยืนยันว่า การดำเนินการของ กสทช. นั้น จะไม่ใช่การปิดเฟซบุ๊คทั้งเว็บไซต์ เป็นการร้องขอให้ปิดเนื้อหาเว็บไซต์ หรือเนื้อหาบนเฟซบุ๊คที่ผิดกฎหมายไทย ดังนั้น จึงเป็นการขอให้ปิดการเข้าถึงในประเทศไทย ซึ่งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวประกอบด้วย เนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ลามกอนาจาร ข้อมูลปลอมซึ่งอาจเป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อ และหมิ่นเบื้องสูง
ด้านนางมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับเลขาธิการ กสทช.ว่า ได้รับการแจ้งจากเฟซบุ๊คเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟซบุ๊คต้องการหมายศาลตัวจริง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสั่งปิดเนื้อหาที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. ร้องขอ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขมาตรฐานของเฟซบุ๊คในการปิดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
“131 ยูอาร์แอล เราก็ได้ตรวจสอบเหตุผลที่ทำไมยังไม่ปิด พบว่ายังมีเอกสารที่ไม่ครบถ้วนตามกระบวนการของเฟซบุ๊ค เขาก็ให้เราดำเนินการให้ครบถ้วน 34 ยูอาร์แอลยังไม่ปิด เพิ่งได้เลขที่ศาลมาเมื่อวาน ก็ต้องรอตัวจริงจากศาล แล้วก็ดำเนินการต่อไป คงพยายามให้เร็วที่สุด” นางมรกตกล่าว
อย่างไรก็ดี นายฐากรไม่สามารถระบุได้ว่า 131 ยูอาร์แอลที่ไม่เหมาะสมนั้น จะถูกปิดลงเมื่อใด และยังไม่ได้กำหนดมาตรการลงโทษเฟซบุ๊คและผู้ให้บริการยูอาร์แอล หากไม่ปิดกั้นเนื้อหาที่มีการร้องข้อ โดยอ้างว่าการลงโทษจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงดีอี ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ซึ่งมีโทษสูงสุด คือ จำคุก 5 ปี
ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 12 เมษายน 2560 กระทรวงดีอี ได้ออกประกาศให้ประชาชนไทยงดเว้นการติดตาม ติดต่อ และเผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊คของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ และนายแอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชล ซึ่งเป็นบุคคลที่มักนำเสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์-วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยผ่านอินเทอร์เน็ต โดยประกาศดังกล่าวระบุว่า การติดตาม ติดต่อ และเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลทั้งสาม อาจเป็นการเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
จากการรวบรวมสถิติของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่า หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 มีประชาชนถูกดำเนินคดีในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 79 คน แต่มีผู้ได้รับการประกันตัวเพียง 18 คน