ประเทศไทยพิจารณาให้สัญชาติแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติกว่า 8 หมื่นคน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.12.30
กรุงเทพ
TH-stateless-1000 น.ส.มานี (ซ้าย) ถือบัตรประจำตัวประชาชนไทยของเธอที่เพิ่งได้รับ ถ่ายภาพพร้อมบุตรสาว (ขวา) ในจังหวัดเชียงราย
เครดิตภาพ UNHCR ประเทศไทย

ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในการพิจารณาให้สัญชาติแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งมีอยู่กว่า 8 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของแรงงานต่างด้าวและผู้พลัดถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน

องค์การยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) รายงานว่า มีผู้ไร้สัญชาติมากกว่า 23,000 คน ได้รับสัญชาติไทยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพยายามจะยุติการไร้สัญชาติภายในปี 2567

ปัจจุบันเฉพาะในประเทศไทย มีบุคคลจำนวน 438,821 คน ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ไร้สัญชาติไว้

รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นที่จะยุติการไร้สัญชาติภายในปี 2567 โดยเมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลได้ขอให้ทุกอำเภอในประเทศระบุและแก้ไขปัญหาสถานะทางกฎหมายแก่กลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งมีตั้งแต่ให้สัญชาติไทยไปจนถึงพำนักถาวรหรือชั่วคราว

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งนำเสนอโดยกระทรวงมหาดไทย และขณะนี้ อยู่ระหว่างรอการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

"เด็กและเยาวชนซึ่งประสบกับภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนประมาณ 80,000 คน ได้รับประโยชน์จากมติที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆนี้ ในเรื่องการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย มีแนวทางและมาตรการดังกล่าวเปิดโอกาสให้เด็กสามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ ถ้ามีคุณสมบัติ" นายกฤษฎา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ถ้าเป็นกรณีของเด็กที่ถูกทอดทิ้งโดยไม่ทราบว่าบิดามารดาเป็นใคร เด็กสามารถใช้สิทธิในการยื่นขอสัญชาตินี้ได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี” นายกฤษฎา ชี้แจงเพิ่มเติม

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นขอสัญชาติ

นายกฤษฎา ชี้แจงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นขอสัญชาติ ดังนี้ คือ 1. เกิดในประเทศไทย และเป็นบุตรของคนต่างด้าวกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำทะเบียนและเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือ 2. เกิดในประเทศไทย เป็นบุตรของคนต่างด้าวอื่นๆ และเรียนหนังสือในประเทศไทยจนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า แต่ถ้ายังเรียนไม่จบระดับอุดมศึกษา จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณี

สำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและต้องการยื่นขอสัญชาติ สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอตามภูมิลำเนาที่ถูกระบุไว้ในหลักฐานการทะเบียนราษฎร โดยใช้เอกสารประกอบการยื่นขอสัญชาติดังนี้ สูติบัตรหรือหนังสือรับรองการเกิด ทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวที่ระบุเลขประจำตัว 13 หลัก

‘ฉันหวังว่า ลูกของฉันจะได้โอกาสนี้บ้าง’

ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ได้กล่าวแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทย ที่ได้ดำเนินกระบวนการช่วยเหลือการขอสัญชาติให้กับคนไร้สัญชาติในประเทศ โดยมีแนวทางและมาตรการที่ชัดเจน

น.ส.รูเวนดรินี เมนิกดิเวลา ผู้แทน UNHCR ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ มีความชัดเจนทั้งในการกำหนดแนวทาง และวิธีการปฎิบัติ

“มติจากคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นการต่อยอดแนวทางและมาตรการที่ประกาศใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยขยายขอบเขตของคุณสมบัติและชี้แจงหลักเกณฑ์และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและแน่วแน่ของรัฐบาลไทยที่จะลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็ก” น.ส.รูเวนดรินีกล่าวในแถลงการณ์ เมื่อวันที่พฤหัสที่ผ่านมา

“ประชาคมระหว่างประเทศต่างยินดีต่อการให้คำมั่นสัญญาของประเทศไทยที่จะทำการแก้ปัญหาสัญชาติ เรารอคอยที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประสานงานและดำเนินการร่วมกันกับรัฐบาลไทย เพื่อที่จะเปลี่ยนคำมั่นสัญญาดังกล่าวให้เป็นแผนปฏิบัติงานและได้ผลลัพธ์ตามที่มุ่งหวัง” น.ส.รูเวนดรินี กล่าวเพิ่มเติม

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยให้การรับรองเข้าร่วมโครงการไอบีลอง (I Belong) ของ UNHCR ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้คนไร้สัญชาติหมดไปอย่างสิ้นเชิงจากประเทศไทยในปี 2567 โดยโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอาณัติสัญญาที่สหประชาชาติมอบหมายให้ UNHCR ในปี 2557 เพื่อลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งกระทบประชากรถึง 10 ล้านคนทั่วโลก

ผู้ไร้สัญชาติและคนอีกจำนวนมากที่เสี่ยงจะเป็นผู้ไร้สัญชาติเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตพรมแดน โดยไม่สามารถบ่งชี้สัญชาติของตน ซึ่งจำนวนมากมักเป็น "ชาวเขา" ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลขั้นตอนการขอสัญชาติ และผู้ที่ในอดีตอาศัยอยู่โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนหรือเอกสารบัตรประจำตัวใดๆ

UNHCR ประเทศไทยมีส่วนร่วมในโครงการ ในจังหวัดเชียงราย ที่จะช่วยให้ผู้ไร้สัญชาติได้รับเอกสารที่จำเป็น เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะเรียนหรือทำงานในประเทศไทยเช่นเดียวกับเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการขอสัญชาติ ในโครงการดังกล่าว น.ส.มานี หญิงเผ่าลาหู่อายุ 39 ปี (ในภาพ) เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับสัญชาติและบัตรประจำตัวประชาชนไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดังกล่าวในบทความของ UNHCR

"ตอนนี้ฉันมีบัตรแล้ว ฉันหวังว่า จะถึงคราวลูกๆ ของฉันบ้าง" มานีบอก UNHCR "พวกเขาต้องถูกตรวจดีเอ็นเอ เพื่อที่จะทำการขอสัญชาติไทย ต่อไปพวกเขาก็สามารถจะเดินทางไปยังที่ที่พวกเขาไม่สามารถไปมาก่อน"

เด็กโรฮิงญามีสิทธิ์

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ผู้หนึ่งกล่าวว่า ทางองค์กรฯ กำลังศึกษามติ ครม. อยู่ และตนคิดว่าจะมีเด็กชาวโรฮิงญาที่เกิดในเมืองไทยนับร้อยคนที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะขอสัญชาติไทยได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานช่วยเหลือทางราชการ

“มีเด็กโรฮิงญาจำนวนหนึ่งที่ได้ใบเกิดในไทย เป็นรุ่นลูก มีบัตรสีชมพู บางคนอายุสิบแปดปี สิบเก้าปี มีอยู่สองคนที่เป็นล่ามให้กับกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในคดีค้ามนุษย์ ซึ่งมติ ครม. มีข้อกำหนดอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ทำคุณให้กับประเทศและไม่คิดร้ายต่อประเทศ ได้พยายามพูดคุยให้ลองไปขอสัญชาติดู คิดว่าในปีหน้า” นางสาวพุทธณี กางกั้น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง