ปคม.แถลงอัยการสั่งฟ้องแก๊งอุ้มบุญ-นายทุนจีน แล้ว 22 ราย
2020.05.29
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) แถลงข่าวการจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติจากประเทศจีน ซึ่งมีนายทุนใหญ่ชื่อ เจ้า หราน โดยสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แล้ว 22 ราย และทางอัยการเห็นชอบให้นำคดีฟ้องศาลต่อไป
พ.ต.อ.ณรงค์ เทศวิบูลย์ รอง ผบก.ปคม. กล่าวว่า ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหากลุ่มแรก 9 ราย และยึดของกลางได้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 จากนั้นได้จับกุมผู้ต้องหารายอื่น ๆ ได้อีกในภายหลัง โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสืบสวนและมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยส่งสำนวนไปให้อัยการเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นพ้อง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ให้นำคดีสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป
“กระบวนการอุ้มบุญมีทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ กลุ่มหญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์แทน คือ แม่อุ้มทั้งหลาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท กลุ่มชายและหญิงที่ขายไข่ หรือขายอสุจิให้กับกระบวนการ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่น กลุ่มผู้โฆษณาจัดหาแม่อุ้ม จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท กลุ่มนายหน้าติดต่อหญิงรับจ้างตั้งครรภ์ โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท กลุ่มผู้ร่วมขบวนการ ทุน ผู้ว่าจ้าง หมอผู้ร่วมกระทำผิด โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท” พ.ต.อ.ณรงค์ กล่าว
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงการจับกุมผู้ต้องหาว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการอุ้มบุญ กลุ่มแรก 9 ราย (รวมนายเจ้า หราน และภรรยา) โดยเจ้าพนักงานสอบสวนได้ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำพยาน 70 ราย ประกอบด้วย แพทย์ พริตตี้-พีอาร์ที่ขายไข่ และแม่อุ้มบุญ ซึ่งมีชื่อในใบเสร็จรับเงินของสถานพยาบาล มีการตรวจค้นคลินิกและโรงพยาบาลที่มีความเชื่อมโยงในคดี 5 แห่ง มีเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท โดยหากรวมทรัพย์สินอื่นจะมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท หลักฐานดังกล่าวนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องหารายที่เหลืออีก 13 รายในภายหลัง
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว 23 ราย ซึ่งเป็นทั้งการจับกุมและเข้ามอบตัวแล้ว 22 ราย โดยสามารถแบ่งกลุ่มคนที่มีหมายจับได้ดังนี้ นายหน้าชาวจีนจับกุมแล้ว 4 ราย คือ นายเจ้า หราน, นางชู ยิงถิง, นางวิลาสินี ชู และ น.ส.เหอ เถิง โย่ว ยังหลบหนีอยู่ 1 ราย คือ นายหยาง เฉิน ชาวจีน, นายหน้าจัดหาแม่อุ้มบุญ จับกุมแล้ว 7 ราย, คนขับรถและให้บริการความสะดวกแม่อุ้มบุญ จับแล้ว 3 ราย, แม่บ้านดูแลแม่อุ้มบุญและดูแลเด็กหลังคลอด จับกุมแล้ว 2 ราย และ บุคลากรทางการแพทย์ รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 6 ราย
ปัจจุบัน อัยการได้ส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 23 ราย ในข้อหาที่แตกต่างกันดังนี้ "สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า, ร่วมกันซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน
ด้าน พ.ต.อ.มานะ กลีบสัตบุศย์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (รอง ผบก.ปคม.) ในฐานะหัวหน้าทีมสืบสวน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนการอุ้มบุญแก๊งนี้ ว่าจ้างหญิงไทยไปฉีดน้ำเชื้อในประเทศลาวและกัมพูชา โดยแม่อุ้มบุญจะได้ค่าจ้าง 300,000-500,000 บาท
“คุณพ่อคุณแม่ชาวจีนที่มีความต้องการบุตรติดต่อนายหน้า เดินทางมาแล้วก็ติดต่อกับหมอ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายแม่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ก็จะมีกระบวนการนายหน้า นายหน้าติดต่อไปยังหญิงที่ขายไข่ เข้าสู่กระบวนการหมอเก็บไข่ มาผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย แล้วก็ใช้หมอกับสถานพยาบาล ไปฝังตัวอ่อนยังประเทศเพื่อนบ้าน แม่อุ้มบุญ รอประมาณ 7-8 เดือน บางส่วนก็จะคลอดในประเทศไทย อีกส่วนนึงเดินทางไปคลอดที่จีน คลอดเสร็จก็จะส่งต่อให้คุณพ่อคุณแม่” พ.ต.อ.มานะ กล่าว
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 มักถูกเรียกจากสื่อว่า พ.ร.บ.อุ้มบุญ โดยกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือ มาตรา 21 ซึ่งระบุว่า
1. สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
2. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการี หรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อหนึ่ง
3. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อหนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของคณะกรรมการ และ 4. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือชายดังกล่าวด้วย
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นายธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า นับตั้งแต่บังคับใช้กฎหมาย มีกรณีอุ้มบุญ 317 กรณี ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย และมีสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต 94 แห่ง กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด