ครอบครัวผู้สูญเสียงดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบ ร่วมไว้อาลัยในหลวง
2016.10.25
นราธิวาส

ในวันครบรอบ 12 ปี ของเหตุการณ์สลายชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 ตุลาคม ปีนี้นั้น ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบและแกนนำสตรีเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ กล่าวงดการจัดงานรำลึกเหมือนทุกปี พร้อมใจกันแสดงการไว้อาลัยและน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งได้มีการไว้อาลัยทุกครั้งหลังละหมาด ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ยังกล่าวว่า แม้จะไม่มีงานรำลึก เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำ ยากจะเลือนหายไปจากใจ
นางแยนะ สะแลแม แกนนำสตรีเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ ผู้ประสานงานความยุติธรรมเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ปีนี้งดการจัดงานทุกประเภท เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงได้ขอความร่วมมือไม่ให้จัดกิจกรรมรำลึกตากใบในระยะนี้ เนื่องจากการสวรรคตของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และอยู่ในช่วงไว้อาลัย ส่วนตัวเห็นด้วย ได้ประสานทีมงานเครือข่ายให้งดกิจกรรมใดๆ ในการรำลึกเหตุการณ์ตากใบทั้งพื้นที่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ไว้ก่อน ซึ่งจะเห็นว่า ทุกเครือข่ายได้ให้ความร่วมมือดี
“พระองค์คือ พระราชาที่ทรงธรรม จะอยู่ในใจพวกเราชาวตากใบตลอดไป ปีนี้ไม่ได้ทำอะไร เพราะอยู่ในช่วงไว้อาลัยในหลวงของเรา และทำความดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชของเรา กลุ่มผู้ชายจะทำกันที่มัสยิด กลุ่มผู้หญิงบางคนก็ทำที่บ้านทุกวัน 5 เวลา หลังละหมาด”
นางแยนะ ชี้แม้ไม่จัดงานรำลึกตากใบ แต่ความทรงจำยังตรึงในใจประชาชน นางแยนะ ได้เล่าถึงเหตุสลายชุมนุมตากใบว่าจำได้ดี และติดตาเสมอ แม้เหตุการณ์จะผ่านล่วงเลยมา 12 ปีแล้ว ว่าในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นวันที่ 10 ของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ขณะที่ตนอยู่บ้านพักบ้าจาเราะ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งห่างจากโรงพักตากใบประมาณ 12 กิโลเมตร ได้ยินชาวบ้านพูดกันว่ามีการชุมนุมกันแถวด่านตากใบ เธอและลูกชาย มูฮัมหมัด มารูวาซี มะหลง จึงไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเช้า เมื่อไปถึงก็พบว่าไม่สามารถออกมาได้ ได้ยินเจ้าหน้าที่เรียกว่า เป็นชุมนุมม้อบตากใบ
“ประชาชนในพื้นที่นราธิวาสกว่า 2000 คน มาร่วม ซึ่งน่าผิดสังเกต ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งกำลังปิดล้อม และที่สุดได้เกิดการสลายชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและเสียงปืนตามมา นับพันนับหมื่นนัด” นางแยนะ เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง
“มีการเคลียร์พื้นที่ และมีการจับกุม ลูกชายและอีกหลายคน ถูกจับมัดมือไขว้หลัง ซ้อนขึ้นรถพาไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ถูกกล่าวหาว่า เป็นแกนนำในการก่อความวุ่นวายและถูกดำเนินคดีพร้อมกับผู้ชุมนุมอีก 57 คนโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่(เป็นหนึ่งใน 58 คนที่ถูกดำเนินคดี)”
“ถึงแม้จะไม่มีงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบ ตนอยากฝากบอกภาครัฐว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยลืม บทเรียนความเจ็บปวดเหตุการณ์สลายม้อบตากใบ มันเป็นความเจ็บปวด ของครอบครัวทุกคน ฉะนั้นบทเรียนที่เคยผิดพลาดมา รัฐต้องแก้ไข อย่าให้มีข้อผิดพลาดเสมือนกรณีเหตุการณ์สลายม้อบตากใบอีก”
เหตุการณ์สลายชุมนุมตากใบ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่บริเวณสนามเด็กเล่น ตรงข้ามสถานีตำรวจตากใบหลังเก่า ในจังหวัดนราธิวาส ได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เข้าสลายผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งพันคนที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์สินทางราชการ และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป
หลังจากการสลายการชุมนุม ได้มีการลำเลียงผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมกว่าหนึ่งพันคน โดยมีวิธีการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำเรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกยีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ ในระหว่างการเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ห่างจาก อ.ตากใบ จุดเกิดเหตุกว่า 150 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย และที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ตากใบ อีก 58 ราย
ต่อมา ในปี 2556 ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการจ่ายเงินเยียวยาเป็นยอดรวม 641,451,200 บาท รวมทั้งคดีได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะญาติและครอบครัวผู้สูญเสียตัดสินใจไม่ฟ้องร้องต่อรัฐ
นายดือราแม ตีมะซา ชาวนราธิวาส พ่อของนายมาหามะนาโซ ตีมะซา ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้ว่า เคยได้รับเงินเยียวยาและรัฐจัดให้ไปทำฮัจย์เมื่อหลายปีก่อน จากนั้นก็จบ ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตปกติ
"ลูกชายที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์วันที่ 25 ตุลาคม ปี 2547 ณ วันนี้เขาก็ยังพิการมือ ใช้การได้ไม่ปกติ เขาเปิดร้านขายน้ำที่บ้าน ใช้ชีวิตปกติ แต่พวกเราก็ไม่เคยลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"
“ในส่วนของความเป็นธรรม ไม่อยากให้พูดถึงแล้ว เพราะมันนานแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือว่าถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นจากอัลลอฮ์แล้ว ทำให้ไม่คิดอะไรมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ลืม แต่ก็ไม่อยากให้คิดอะไรมาก” นายดือราแม บอกเบนาร์นิวส์
“ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาตลอด ก็ได้ร่วมกับทุกคน อ่านแสดงความอาลัยที่มัสยิดทุกครั้ง หลังละหมาด”