ประยุทธ์หวังกล่อมสหรัฐให้ยกเลิกการระงับจีเอสพีในการประชุมอาเซียน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.10.28
กรุงเทพฯ
191028-TH-labor-800.jpg คนงานแกะกุ้งที่โรงงานไทยยูเนี่ยน จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 23 สิงหาคม 2559
เอพี

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะใช้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในการเจรจาเรื่องสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preferences – GSP) หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งระงับสิทธิพิเศษดังกล่าวในสินค้าบางรายการกับประเทศไทยชั่วคราว ซึ่งจะมีผลในต้นไตรมาสที่สองของปีหน้า ที่อาจกระทบต่อการส่งออกของสินค้ามูลค่าราวสี่หมื่นล้านบาทได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในกรณีดังกล่าว ว่าทางการไทยจะหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกับเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งยังมีเวลาอีกหกเดือนก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้

“เรื่องนี้ยังมีเวลาอีกหกเดือน เราต้องหาวิธีคุยกันอีกต่อไป ถ้าไม่ได้ ก็คือไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของเขา อย่าทำให้เป็นปัญหาทางการเมืองอีก  และอย่าพูดให้ทุกอย่างมันเลวร้ายไปกว่าเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องมีอยู่ เพราะเขาเป็นลูกค้าที่สำคัญของเราเหมือนกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐได้ให้เหตุผลในการยกเลิกสิทธิพิเศษสินค้าไทยผ่านทางหนังสือที่ส่งไปยัง นางแนนซี่ เพลอสซี่ ประธานสภาสหรัฐว่า ประเทศไทยไม่ได้ทำการใดๆ เพื่อเป็นการตระหนักถึงสิทธิแรงงานในระดับสากล จึงเป็นการเหมาะที่จะระงับสิทธิพิเศษด้านศุลกากร หลังจากที่ประเทศไทยระงับการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตราย ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอต ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ บริษัทของสหรัฐ เช่น มอนซานโต้

ซึ่งในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องตื่นตัวในการดูแลแรงงานในประเทศไทยด้วย และยังได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว โดยคาดหวังว่าจะสามารถพูดคุยกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้บรรลุผล ในการประชุมอาเซียนซัมมิทและการประชุมที่เกี่ยวข้อง

ในวันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดแถลงข่าวกรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลไทยจะได้มีการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางในการเจรจาขอคืนสิทธิผลพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้าไทยจำนวน 573 รายการกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ซึ่งจะเดินทางมาร่วมประชุม East Asia Summit ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนการตัดสิทธิจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 25 เมษายนปีหน้า และประเทศไทยจะใช้ทุกเวทีในการเจรจากับสหรัฐ เพื่อขอคืนสิทธิพิเศษดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังสามารถส่งออกสินค้าที่โดนตัดสิทธิดังกล่าวไปยังสหรัฐอเมริกาได้ เพียงแต่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติในอัตราเฉลี่ย 4.5% หรือประมาณไม่เกิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งมาตรการหนึ่งที่จะนำมารองรับกรณีที่เกิดขึ้นคือการหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ หรือ ตะวันออกกลาง ฯลฯ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มาตรการของนายทรัมป์ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงาน

“ผมว่า ที่เกิดขึ้นมันไม่เกี่ยวกับแรงงาน เพราะเขายกเราอยู่ระดับเทียร์ 2 แล้ว เราจัดการแรงงานดีเด่น 2 ปีซ้อน อเมริกาเป็นคนมาบอกเอง มายกเหตุผลแรงงานมันไม่สมเหตุสมผล เพราะแก้ไอยูยูมาสี่ห้าปี แก้การค้ามนุษย์ มีการออกกฎหมายเข้มงวดมากมาย เรายังเป็นประเทศแรกที่รับอนุสัญญา น่าจะเอาประเด็นตรงอื่นมากกว่า” นายมงคล กล่าว

“ผลกระทบจริงๆ ธุรกิจประมง เรียกว่า มันดร็อปจนไม่รู้จะดร็อปยังไง เพราะเรือประมงหายไป 50 เปอร์เซ็นต์ สัตว์น้ำที่จับได้ บริโภคในประเทศก็ไม่เพียงพอแล้ว ถ้าจะกระทบก็คงเป็นบริษัทแปรรูปขนาดเล็กและกลาง ที่เขานำเข้าวัตถุดิบมาแล้วแปรรูป และส่งออกไปขายต่างประเทศ” นายมงคล กล่าวเพิ่มเติม

โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ ไทยยังมีเวลาแก้ไข เพื่อขอทบทวน

ด้านโฆษกประจำสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังจะสามารถทบทวนคำสั่งการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีกับประเทศไทยได้ ก่อนที่คำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากระบบจีเอสพีอยู่ ซึ่งระบบจีเอสพี มีไว้สำหรับช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา

“ประเทศไทยยังมีเวลาที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการรับดังกล่าว จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 25 เมษายน 2563 เราหวังว่าประเทศไทยจะขยับขยายกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน ที่จะช่วยหนุนให้มีการทบทวนคำสั่งระงับนี้ นั่นจะช่วยนำไปสู่การทบทวนเรื่องจีเอสพี ที่เราได้มีมาตรการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว” นางจิลเลี่ยน บอนนาร์โดซ์ โฆษกประจำสถานทูตสหรัฐ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน นายฟิล โรเบิร์ตสัน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ให้สัมภาษณ์กับเบนานิวส์ ระบุว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถโทษใครได้ นอกจากโทษตัวเองที่ไม่สามารถยกระดับมาตรฐาน การคุ้มครองสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลได้

“ประเทศไทยล้มเหลวในการออกกฎหมายด้านแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ยังไม่เลิกการไม่ยอมรับสหภาพแรงงาน ยังมีนายจ้างที่ข่มเหงลูกจ้าง หรือการรับรองการปกป้องสิทธิของแรงงานต่างด้าว เป็นเรื่องของเวลาที่ในท้ายที่สุด ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จะบอกว่าพอกันที” นายฟิล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เจ้าหน้าที่รัฐ สหภาพแรงงาน และนายจ้าง ต้องมีความโปร่งใส ความพยายามในทางที่ดีที่จะประกันสิทธิของแรงงานผ่านทางการทบทวนกฎหมายแรงงาน และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ”

นนทรัฐ ไผ่เจริญ มีส่วนร่วมในการรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง