ปัตตานีเชิญชวนท่องเที่ยวดินแดนประวัติศาสตร์ลังกาสุกะ
2016.08.22
ปัตตานี

จังหวัดปัตตานี เชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไปเที่ยวดินแดนลังกาสุกะ เมืองเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สถานที่สำคัญทางศาสนา และสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ภายใต้คำขวัญ “เมืองพหุวัฒนธรรม พระอาทิตย์โผล่พ้นน้ำทะเล ตัดเส้นขอบฟ้าในยามเช้าและยามเย็นที่สวยงาม ณ ปลายแหลมตาชี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี”
ในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวย้ำเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวจังหวัดปัตตานี ดินแดนอันสวยงามของภาคใต้ โดยเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะประทับใจกับสถานที่ท่องเที่ยวที่น้อยคนจะได้เห็น
“แหลมตาชี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง ถือเป็นความมหัศจรรย์บนปลายด้ามขวาน เป็นจุดชมพระอาทิตย์แสงแรกและแสงลับฟ้า ณ จุดเดียวกันแห่งเดียวของประเทศ และมีชายหาดที่สวยงาม ถือเป็นอัญมณีแห่งท้องทะเลอ่าวไทย จึงได้ส่งเสริมการรับรู้ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามวาระจังหวัดให้ประชาชนชาวปัตตานีมีอาชีพและรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ” นายสุริยะกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายสุริยะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แหลมตาชี เป็นสันทรายที่ก่อตัวขึ้นจากคลื่นลม จนกลายเป็นแหลมงอกยาวออกไปในทะเลมีระยะทางกว่า 19 กิโลเมตร และยังคงงอกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยหากนักท่องเที่ยวยืนบนแหลมจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของท้องทะเลได้ชัดเจน โดยบนหาดทรายมีความเงียบสงบ ไม่มีคลื่น แต่จะมีลมพัดเย็นสบาย ในยามเช้าสามารถเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหนือแผ่นน้ำ และในยามเย็นสามารถชมพระอาทิตย์ตกลับเมืองปัตตานีได้อย่างสวยงาม และยังสามารถชมภาพวิถีชีวิตของชาวประมงได้อีกด้วย
จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 1,055 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 1,212,723 ไร่ ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับอ่าวไทย ทิศใต้ติดต่อกับ อ.เมือง และอ.รามัน จ.ยะลา และอ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.เทพา และอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ มีประชากร 686,186 คน 174,480 ครัวเรือน
นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชื่อว่า ในพุทธศตวรรษที่ 17 ถึง 23 ปัตตานี เป็นศูนย์กลางของ “อาณาจักรลังกาสุกะ” ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในการค้าขายกับจีน มาจนถึงยุคกาลแห่งปาตานีดารุสลาม ทำให้มีวัฒนธรรมผสานผสมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เช่น มัสยิดกลาง มัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สุสานรายาฮีเยา รายากูนิงเชื้อสายพระวงค์ปาตานี สมัยอดีต และพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์
สถานที่ที่น่าไปเยือน ได้แก่ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง ใกล้มัสยิดกรือเซะที่มีการก่อสร้างแบบเสากลมก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะทางตะวันออกกลาง ส่วนที่สำคัญที่สุดคือหลังคาโดมซึ่งยังสร้างไม่เสร็จ มัสยิดเก่าแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสาปแช่งไว้ไม่ให้สร้างสำเร็จ บริเวณใกล้เคียงนั้นมีฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ. 2121–2136
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ที่ ถ.ยะรัง เส้นทางยะรัง-ปัตตานี ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2497 พิธีเปิดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมีรูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาลของอินเดีย ตรงกลางอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้าง บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้างภายในห้องโถงด้านในมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบ
วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ตั้งอยู่ที่ บ.ป่าไร่ ต.ทุ่งพลา ใช้เส้นทางหลวงสาย 42 ปัตตานี-โคกโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีมาแล้ว ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดที่รู้จักกันในนาม หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ขนาดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่
จากวัดช้างให้ประมาณ 10 กม. นักท่องเทียวจำนวนมากจะต้องเดินทางไปที่น้ำตกทรายขาว พร้อมเคารพพระพุทธรูปปางยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งมีขนาดความสูง 28 เมตร ประดิษฐานบริเวณเขารังเกียบ อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว หรือบนยอดเขาสันกาลาคีรี
วัดมุจลินทวาปีวิหาร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ริมเส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ในเขตสุขาภิบาล อ.หนองจิก เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจิกจากที่เก่า มาอยู่ที่ตำบลตุยง เมื่อ พ.ศ. 2388 ปัจจุบันเป็นอารามหลวง และมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม