“โกโต้ง” ปฎิเสธว่ามีส่วนในการค้ามนุษย์โรฮิงญา
2017.01.25
กรุงเทพฯ

ในวันพุธ (25 มกราคม 2560) นี้ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หนึ่งในจำเลยคนสำคัญของคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ขึ้นให้การต่อศาลในการนัดสืบพยานฝ่ายจำเลย ซึ่งวันนี้เป็นวันที่สองโดยระบุว่า ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา และว่าตนเองอาจถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่
นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นจำเลยที่ 29 ในคดีหมายเลขดำ คม.27/2558, คม.28/2558 และ คม.29/2558 ที่พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นรวม 102 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551
สื่อมวลชนไทยรายงานว่า นายปัจจุบัน เป็นผู้กว้างขวางในจังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในจำเลยที่สำคัญสามราย ซึ่งอีกสองรายได้แก่ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 และนายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 1
ในการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจพบการโอนเงินจากนายปัจจุบันและพวกไปยังบัญชีธนาคารของพลโทมนัส เป็นที่มาของการออกหมายจับพลโทมนัส ในเดือนมิถุนายน 2558 เพราะสงสัยว่าเป็นเงินที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ในขณะที่พลโทมนัส กล่าวว่า เป็นเงินในการซื้อขายวัวชน
นายปัจจุบัน กล่าวในห้องพิจารณาคดีของศาลอาญา รัชดาภิเษกว่า รู้จักกับ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 ในฐานะเป็นคนชื่นชอบกีฬาชนวัวเหมือนกันเท่านั้น
“เคยเห็นในงานชนวัว และเจออีกครั้งที่โรงแรมจึงเข้าไปทักในฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เคยคุยกันเรื่องการซื้อขายวัวชน” นายปัจจุบัน กล่าว
นายปัจจุบัน ยังได้ปฏิเสธว่ามีการกระทำผิดกฎหมายร่วมกับนายบรรณจง ปองผล หรือโกจง รวมทั้งปฎิเสธความเกี่ยวข้องกับจำเลยอีกหลายคน
“นายกฯ บรรจงโทรมาหาเวลาเพื่อนเขาจะมาเที่ยวหลีเป๊ะ ถามว่ามีที่เที่ยวที่ไหน การโทรศัพท์ไม่เกี่ยวข้องกับทั้ง 13 ข้อกล่าวหา” อดีตนายก อบจ.สตูล ระบุ
นายปัจจุบัน กล่าวว่า ไม่รู้จักและไม่เคยเดินทางไปยังแคมป์เขาแก้ว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย-มาเลเซีย จุดที่เจ้าหน้าที่พบหลุมศพของชาวโรฮิงญา และเชื่อว่าเป็นสถานที่ซึ่งขบวนการค้ามนุษย์ใช้กักตัวชาวโรฮิงญา เพื่อเตรียมส่งตัวไปยังมาเลเซีย โดยอ้างว่า ตนเองอาจถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่
“การเป็นคนไม่ยอมใครอาจทำให้ใครไม่พอใจบ้าง ทั้งสีกากีและสีเขียวเลยครับ ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะถูกกดดันให้ทำคดีหรือไม่” นายปัจจุบัน กล่าว
การเปิดเผยรายงานการพบหลุมศพของผู้อพยพชาวโรฮิงญาลักลอบนำเข้าเมืองบนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ จนนำไปสู่การสืบสวนหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้โดยการนำของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 8 หัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานอัยการได้เริ่มฟ้องในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2546 ต่อจำเลย 88 คน และภายหลังได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวีมาพิจารณาที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญาในเดือนตุลาคม 2558
กระทั่งมีการตรวจสอบหลักฐานในคดีครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2558 และมีการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์เรื่อยมาจนเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2559 และเริ่มสืบพยานฝ่ายจำเลยในเดือนมกราคม 2560
ทนายความสมพร มูสิกะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า การตัดสินคดีนี้ น่าจะสามารถทำได้ในเดือนมีนาคม โดยจะมีการสืบพยานจำเลยในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้ และวันที่ 7-10 ก.พ. 2560 โดยในแต่ละวันศาลจะสืบพยานได้วันละ 10-12 คน