กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมต้องปรับเปลี่ยนสู่โลกสมัยใหม่

ชาวมานิ จำต้องปรับตัวรับวิถีใหม่เริ่มด้วยการทำบัตรประจำตัวประชาชน
ยศธร ไตรยศ
2024.05.06
สตูล
TH-mani1.JPG

ชายชาวมานิยืนด้านหน้า ทับ หรือกระท่อม ที่สร้างล้อมรอบอยู่ไม่ไกลกันด้วยวัสดุที่หาได้ทั่วไป แต่เดิมใช้เพียงแค่ใบไม้และกิ่งไม้ ที่บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani2.jpg

ชาวมานิตัดใบกล้วยป่าที่นิยมใช้ในการบังฝน ตลอดจนเป็นชิ้นส่วนในการมุงหลังคาที่อยู่อาศัย ณ บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani3.jpg

ชายมานิก่อกองไฟในทับหรือกระท่อม เพื่อใช้ไล่ยุงและแมลงต่าง ๆ ตลอดจนจัดเตียมอาหารทุกมื้อ ที่บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani4.jpg

ชาวมานิยังคงใช้วิถีการล่าสัตว์ด้วยการเป่าลูกดอกอาบยาพิษ ถือเป็นอาวุธสำคัญในการล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารอยู่บ้าง ณ บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani5.JPG

หญิงชาวมานิที่บ้านห้วยหนานเข้าป่าไปหาอาหารและของป่าช่วงกลางวัน เพื่อเป็นเสบียงและแบ่งบางส่วนออกขาย ณ บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani6.jpg

แผงค้าของมานิ ตั้งอยู่ริมถนนบริเวณบ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล สินค้าส่วนใหญ่คือสมุนไพรและมันป่าที่พวกเขาเชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani7.jpg

ครอบครัวชาวมานิที่มีการปรับตัวอยู่ร่วมกับคนเมืองมากขึ้น ที่บ้านห้วยหนาน ในเทือกเขาบรรทัด อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani8.jpg

ชายชาวมานิบ้านห้วยหนานที่รับจ้างทำงานในสวนยางพาราใกล้เมือง ได้ปรับตัวเข้ากับคนเมืองมากขึ้นจากเสื้อผ้าและการแต่งกาย ณ บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani9.jpg

ชาวมานินิยมออกมาจับจ่ายข้าวสารและเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร หลังเริ่มทำงานเก็บเงินและมีโอกาสเข้ามาซื้อสินค้าของใช้ที่จำเป็นนอกเหนือจากการใช้วัตถุดิบจากป่า ณ บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani10.jpg

ซากรถของเล่นเด็กที่ได้รับบริจาคมาหล่นบนพื้นดินใกล้ ๆ ครอบครัวชาวมานิ ที่บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

TH-mani11.jpg

เด็กหญิงชาวมานิสวมเสื้อที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งมอบให้ในโอกาสที่เข้ามาบริจาคของและให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ณ บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า สตูล วันที่ 28 มีนาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

มานิ คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยเรื่อยไปตลอดแนวคาบสมุทรมลายู มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต แต่ด้วยเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ในปัจจุบัน ทำให้มานิกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันประชากรมานิในประเทศไทยมีประมาณหนึ่งพันคน ส่วนใหญ่ได้รับสัญชาติไทยและมีบัตรประจำตัวประชาชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คงเหลือบางส่วนที่ตกหล่นเนื่องการอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ทำให้การเดินทางมาทำบัตรหรือระบบต่าง ๆ ของทางราชการถือเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา ส่วนในพื้นที่บ้านคีรีวง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ยังมีชาวมานิอาศัยอยู่เกือบ 100 คน

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากที่สุด คือการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ ที่นอกจากจะขีดเส้นแบ่งพรมแดนทางธรรมชาติออกจากกันแล้ว ยังส่งผลสืบเนื่องถึงสถานะความเป็นพลเมืองของพวกเขาที่ถูกแบ่งออกตามพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน

แต่เดิมมานิคือกลุ่มคนที่เก็บตัวเองอยู่ในป่า พวกเขาแทบไม่มีความจำเป็นใด ๆ ให้ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก จนการถือกำเนิดขึ้นของความเป็นรัฐชาติที่ต้องการระบุตัวตนของประชากรเกิดขึ้น ส่งผลให้มานิที่อาศัยอยู่ตลอดแนวคาบสมุทรมลายูต้องกลายเป็นคนอื่นในหมู่พวกเดียวกัน

การเดินทางไปมาหาสู่และการอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยตามแหล่งอาหารและฐานทรัพยากรในพื้นที่ต้องลดน้อยลง หรือถูกจำกัด ขณะที่ในบางพื้นที่วิถีชีวิตแบบเดิมได้หายไปตามเงื่อนไขทางสังคมและกฎหมายที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกลุ่มคนและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการขอสัญชาติแล้วก็ตาม โดยอุปสรรคในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของมานิ คือการสื่อสาร ที่พวกเขาส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเข้าถึงการบริการต่าง ๆ ของรัฐ

บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกหลอกถูกเอาเปรียบจากผู้ไม่หวังดี ทำให้จนถึงทุกวันนี้ยังคงมีมานิบางกลุ่มเลือกที่จะสละสิทธิ์ในการขอสัญชาติไปโดยปริยาย

ขณะที่ในกลุ่มของมานิที่มีการปรับตัวและได้รับสัญชาติไทยเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และออกจากป่ามาประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขายสินค้าที่ได้จากป่าเล็ก ๆ น้อย มีการสร้างบ้านอยู่แบบถาวรมากขึ้นจากเดิมที่อาศัย “ทับ” ที่มีลักษณะเป็นเพลิงพักชั่วคราวทำจากกิ่งไม้และใบไม้ที่หาได้ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม พื้นที่อาศัยของพวกเขาก็ยังคงอยู่บริเวณป่าหรือติดกับป่าด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรมและความเชื่อที่ส่งต่อกันมาจากบรรพบุรุษที่เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาว่า มานิคือหนึ่งในชาติพันธุ์ที่ยังคงความบริสุทธิ์ ทั้งในสายเลือดและรูปแบบของวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างแข็งแรง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง