รมต.ต่างประเทศกล่าว สถานการณ์ค้ามนุษย์ในไทยดีขึ้น

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.02
กรุงเทพฯ
TH-fishery-620 เจ้าหน้าที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขณะเข้าตรวจค้นเรือต้องสงสัยว่าทำประมงผิดกฎหมาย วันที่ 9 ธันวาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (2 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะได้เปิดเผยว่า ในปี 2559 สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปี 2558 และในปี 2560 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 3 พันล้านบาท เพื่อใช้แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ทั้งยังจะนำข้อเรียกร้อง และข้อกังวลของทุกฝ่ายมาปรับปรุงรูปแบบการทำงานให้ดีขึ้น

“เราทำให้รับทราบกันว่า การค้ามนุษย์นี้จะเลิกเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนสูง แต่มันจะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แต่ไม่มีผลตอบแทนคือ ใครอย่ามาสนใจแหลมเข้ามาอยู่ในวงการนี้อีก ท่านจะไม่เกิดผล เพราะฝ่ายรัฐเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ รัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติ เอาจริงในทุกด้านไม่ใช่เพียงนโยบาย การบังคับใช้กฎหมายก็ทำอย่างเข้มข้น” นายดอน กล่าวในการแถลงข่าว

เมื่อมิถุนายนปี 2559 รัฐบาลสหรัฐฯ ปรับชื่อประเทศไทย ขึ้นจากอันดับต่ำสุด ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี หรือ TIP ปี 2559 มาอยู่ในกลุ่ม “Tier 2 Watch List” นั่นคือ ประเทศที่ “กำลังพยายามอย่างมาก” ที่จะให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานและกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ ถึงการปรับอันดับขึ้นของ TIP ให้แก่ประเทศไทย พร้อมกับมีการยื่นจดหมายถึงนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ โดยข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า มันจะ “บั่นทอนความพยายามของนานาประเทศอย่างมากและอย่างถาวร ในการปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย"

"การเลื่อนอันดับของไทยจะอยู่ได้ไม่นาน ถ้ารัฐบาลไม่ตระหนัก [ว่า] การแก้กฎหมายเท่านั้นไม่เพียงพอ และรัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในการปราบปรามทำลายเครือข่ายผู้ค้ามนุษย์ที่ละเมิดสิทธิและทารุณกรรมแรงงานอพยพ โดยไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกเบนาร์นิวส์เมื่อกลางปีที่แล้ว

ส่วน แมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการองค์กรฟอร์ติไฟไรท์ และ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการอพยพย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงข่าวถึง การได้รับการปรับยกอันดับขึ้นของไทย เมื่อกลางปีที่แล้วเช่นกันว่า

"2558 เป็นปีแห่งวิกฤติประวัติการณ์ของ การค้ามนุษย์ในประเทศไทย การปฏิบัติของรัฐบาลไทยส่งผลกระทบโดยตรงกับ 'วิกฤตเรือ' ที่สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งภูมิภาค เมื่อปีที่แล้ว" แมทธิว สมิธ กล่าว "ประเทศไทยมีการพัฒนาที่สำคัญในเดือนที่ผ่านมา แต่การปรับเลื่อนอันดับขึ้น สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2558 นั้น น่าจะเร็วเกินไป และส่งสัญญานที่ไม่ถูกต้องให้กับรัฐบาล"

นายดอน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าว 2.66 ล้านคน ในปี 2559 รัฐบาลสามารถจับกุมการกระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ได้ 333 คดี สั่งฟ้องคดีค้ามนุษย์ 301 คดี ตัดสินลงโทษผู้ต้องหา 268 คน ยึดทรัพย์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 9 คดี รวมมูลค่า 784 ล้านบาท สามารถจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ได้ 45 คน และสามารถขยายโอกาสทำงาน และหางานให้กับผู้เสียหาย ได้ 196 คน ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อย่างน่าพอใจ โดยแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของรัฐบาลปัจจุบัน และปี 2560 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์กว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.8 เปอร์เซ็นต์

“การบรรยายสถิติและข้อมูลต่างๆ ล้วนเป็นการสะท้อนถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเป็นข้อห่วงใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเอ็นจีโอ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทำให้เราพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การขาดล่าม ก็หาล่ามอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอให้กับเหยื่อ ค่าธรรมเนียมที่สูงก็ลดลงมา ระบบสัมภาษณ์เหยื่อ การเยียวยาเหยื่อ และการอนุญาตให้ทำงาน สถิติการดำเนินคดีก็จัดการดำเนินไป” นายดอน กล่าวเพิ่มเติม

นายดอน ระบุว่า การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยใช้หลัก 5พี (5P) คือ การดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) การป้องกัน (Prevention) นโยบายและกลไกการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ (Policy and Mechanism) และความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Partnership)

พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานในการทำประมงซึ่งเป็นข้อกังวลของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ปัจจุบัน มีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี

“การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย IUU วันนี้ มีการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน กระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบายที่จะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ กรมเจ้าท่านำเรื่องซีแมนบุ๊คมาเป็นตัวจับ กรมประมงกับกองทัพเรือ ช่วยในเรื่องการสัมภาษณ์เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงจากลูกเรือประมงก่อนลงเรือ นี่คือรากฐาน เมื่อทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองการทำงานก็จะขับเคลื่อนไปโดยอัตโนมัติ” พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าว

ในปี 2559 มีคดีค้ามนุษย์ภาคประมง 43 คดี โดย 23 คดี จากทั้งหมด เกิดบนเรือประมงต่างชาติที่เข้ามากระทำผิดในเขตประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการค้ามนุษย์โดยเรือสัญชาติไทยลดน้อยลง และต่อคำถามว่า สหรัฐอเมริกาจะประเมินสถานะการประมงไทยอีกครั้งเมื่อใดนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศระบุว่า การประเมินสถานการณ์การต่อต้านการค้ามนุษย์ของ 188 ประเทศ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง