กลุ่มผู้หญิง: เจ้าหน้าที่รัฐยังปฎิบัติไม่เหมาะสมกับพยานผู้หญิงและเด็ก
2017.04.05
กรุงเทพฯ

ในวันพุธ (5 เมษายน 2560) นี้ นักสิทธิสตรี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมเสวนาถึงแนวทางในการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อพยานผู้หญิงและเด็ก โดยผู้ร่วมเสวนาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฎิบัติต่อพยานเพศหญิงและเด็ก โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพยาน และปฎิบัติต่อหญิงบริการในฐานะของเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์มากกว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิด ด้านเจ้าหน้าที่ระบุว่า รัฐได้พยายามพัฒนากระบวนการช่วยเหลือผู้ต้องเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มาตลอด แต่ยอมรับว่าก็ยังพบอุปสรรคในหลายด้าน
ในเสวนาวิชาการ “บูรณาการการทำงานและวางแนวทางการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย และพยานที่คำนึงถึงสิทธิของผู้หญิงและเด็กในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับสิทธิและความเสมอภาคของผู้หญิงและเด็กร่วมเสวนา และมีผู้สังเกตการณ์รวมกว่า 50 คน มีการยกประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหาขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกัน
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีอุปสรรคหลายด้านที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค และการปฎิบัติที่ไม่เหมาะสมต่อผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีการค้าประเวณี
“ในกระบวนการค้าประเวณีมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งผู้จัดหาหญิงบริการ เจ้าของสถานประกอบการ รวมถึงผู้ซื้อบริการด้วย แต่กลับพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ไม่ได้มีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินการเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังมีความเห็นอีกด้วยว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลคนต่างด้าวที่จะเข้ามาเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์” นางอังคณากล่าว
ในขณะที่ น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง ชี้ว่า หากมีการตรวจสอบและจับกุมสถานบริการ ควรกันผู้หญิงบริการเป็นพยานมากกว่าจะจำแนกผู้หญิงบริการเป็นผู้กระทำผิด เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ถูกแสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ แม้จะสมัครใจมาทำงานก็ตาม
“ผู้หญิงไทยไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่กลัวตำรวจมากกว่าจะกลัวพวกแมงดา หรือเจ้าของสถานบริการ เพราะว่ากลัวจะถูกส่งกลับ เพราะว่าการที่เขามาทำงานก็คือเป็นหนี้ ก็ต้องการเงินที่จะกลับไปให้ครอบครัว ในสากลเขาคลี่คลายประเด็นนี้แล้ว โดยที่บอกว่าความยินยอมของผู้ที่ถูกแสวงประโยชน์ ไม่สามารถลบล้างว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้เสียหายได้” น.ส.อุษา กล่าว
ผู้ร่วมเสวนาหลายคนยังได้ชี้ว่า ความล่าช้าของการดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อทั้งผู้เสียหายและผู้ที่เป็นพยาน จนทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ หรือเดินทางไปให้การที่ศาล
นายประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการค้ามนุษย์ ชี้แจงว่า อุปสรรคของการทำคดีค้ามนุษย์คือ พนักงานสอบสวนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่พร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการจับกุม ทำให้ไม่สามารถหาพยานและหลักฐานได้รวดเร็วและสะดวก ส่งผลให้เกิดการล่าช้าในการดำเนินคดี
“กระบวนการสอบสวน กฎเราคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กไว้รัดกุม ไม่ค่อยมีปัญหาในกระบวนการสอบสวนตามวิอาญา ปัญหาเกิดจากเพราะพนักงานสอบสวนเข้าไปพื้นที่หลังจากหน่วยปฎิบัติงานเข้าไปแล้ว พนักงานสอบสวนได้เข้าที่เกิดเหตุช้า พนักงานสอบสวนจะมีพยานแค่ผู้เสียหายเท่านั้น หลายๆ คดีจึงเกิดปัญหา” นายประวิทย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.ชลีรัตน์ แสงสุวรรณ มูลนิธิพิทักษ์สตรี ระบุว่า เห็นความพยายามของรัฐบาลไทยที่พยายามจะพัฒนากระบวนการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ให้ดีขึ้น แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ เนื่องจากกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ก็มีการพัฒนารูปแบบไปด้วยเช่นกัน
“ระบบนายหน้า หรือคนที่จ้องจะเอาเปรียบเขาก็มีการพัฒนาเร็วแล้วก็รุดหน้ากว่าเรา คือเดิมทีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราจะเห็นว่า มีการแจ้งอายุที่ผิด อย่างเช่นอายุแค่ 15 ปี ก็แจ้งเป็นอายุ 21 ปี ก็ทำให้รัฐบาลไทยต้องไปหากลไกที่จะคัดแยกตรงนี้ให้ได้ เช่น การหามวลกระดูกจากฟัน ทำให้เรามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะสูง” น.ส.ชลีรัตน์กล่าว
ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า รัฐจำเป็นต้องพยายามปรับปรุงรูปแบบการดำเนินคดี และการช่วยเหลือผู้เสียหายให้พัฒนาขึ้นไปเรื่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียหาย พยาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี และขณะเดียวกันจำเป็นต้องพัฒนารวบแบบการคัดกรอง ตรวจสอบ และป้องกันให้ทันสมัย เพื่อต่อสู้กับกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ และผู้ที่นำผู้หญิงและเด็กมาค้าบริการทางเพศอีกด้วย
จากข้อมูลของ รายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึง 31 มีนาคม 2559 รัฐบาลไทยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 241 ราย (ในปี 2557-2558 จับกุมได้ 104 ราย) และรัฐบาลไทยยื่นฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 34 ราย