แรงงานข้ามชาติพม่ายื่นข้อเรียกร้องให้ยูนิคอร์ดปรับปรุงสภาพการจ้าง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.30
กรุงเทพฯ
TH-migrant-workers-620 ตัวแทนแรงงานชาวเมียนมา (ขวามือ) ยื่นหนังสือเรียกร้องการปรับปรุงสภาพการจ้างงานแก่เจ้าหน้าที่บริษัทยูนิคอร์ด วันที่ 30 ม.ค. 2560
เครดิตภาพ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ในวันจันทร์ (30 มกราคม 2560) นี้ แรงงานจากประเทศเมียนมากกว่าสองพันราย ในบริษัทยูนิคอร์ด ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้บริษัทฯ ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้าง โดยตัวแทนแรงงานจะได้เจรจานัดแรกในวันพุธนี้ ซึ่งเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่แรงงานต่างชาติได้แสดงออกในการเรียกร้องของตน

“เราใช้สิทธิการล่าลายมือชื่อตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 เพื่อการเจรจาต่อรอง โดยสิทธิได้มา ต้องมองเห็นความเป็นคน ไม่ใช่ทำตามเพียงกฎหมายขั้นพื้นฐาน ดังนั้น ถ้าเราสามารถรวมตัวกันได้ ก็สามารถใช้แรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับนายจ้างในการเจรจาต่อรอง” นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“บริษัทเองไม่ได้แย่สักเท่าไหร่ สิ่งที่แรงงานร่าง ก็เป็นสวัสดิการเดิมที่บริษัทให้อยู่แล้ว เช่น การปรับเบี้ยขยันจากเดิมที่ได้ 175 บาทต่อครึ่งเดือน ขอเพิ่มเป็น ถ้าอายุงาน 1-3 ปี ขอให้บริษัทปรับเพิ่ม ข้อเรียกร้องขอให้บริษัทจ่ายค่าจับมีด ค่าร้อน คือ คนละ 20 บาทต่อวัน ขอเพิ่มเป็น 50 บาทต่อวัน ขอให้จัดกินเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ให้แรงงานไม่ใช่แค่ระดับหัวหน้างาน และเรียกร้องเงินโบนัส” นางสาวสุธาสินีกล่าวเพิ่มเติม

“บริษัทก็รับเอาข้อเรียกร้องของแรงงานไป และให้เข้ามาเจรจากันในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็จะได้ข้อสรุปว่า จะมีการปรับหรือไม่”นางสาวสุธาสินีระบุ

ทางด้านบริษัทยูนิคอร์ด ไม่ได้ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน

บริษัทยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ 39/3 หมู่ที่ 8 ถนนเศรษฐกิจ 1 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นโรงงานแปรรูปและส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ารายใหญ่ของประเทศไทย มีแรงงานกว่า 12,000 คน ในสามโรงงาน

ซึ่งในวันนี้ ตัวแทนแรงงาน ยื่นจดหมายเพื่อขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน โดยมีแรงงานลงลายมือชื่อ 2,243 รายชื่อ เพื่อการสนับสนุนข้อเรียกร้องและได้เลือกตั้งผู้แทนไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล

ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายไทย ไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวในรูปแบบสหภาพแรงงาน เพื่อร่วมกันเจรจาต่อรองสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งตามอนุสัญญา ILO 87 และ 98 และสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน เป็นหลักมีผลผูกพันกับสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้งหมด ตามที่ระบุในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

นางสาวสุธาสินี กล่าวว่า เมื่อนายจ้างรับข้อเรียกร้องในบ่ายวันนี้แล้ว พาตัวแทนคนงานไปยื่นหนังสือแจ้งสวัสดิการฯ ว่า ได้แจ้งข้อเรียกร้องกับนายจ้าง และนายจ้างลงรับไว้แล้ว พร้อมนัดเจรจานัดแรกในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ประเทศไทย ได้ประสบปัญหาเรื่องการประมงผิดกฎหมาย จนกระทั่งสหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลือง และกำหนดให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว มิฉะนั้นจะงดนำเข้าสินค้าประมงมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งภายหลัง สหภาพยุโรปได้กำหนดให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานอีกด้วย เนื่องจากมีการรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคประมง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง