สภาฯ ลงมติไว้วางใจ นายกฯ และ 5 รัฐมนตรี

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.02.28
กรุงเทพฯ
200228-TH-vote-prayuth-1000.jpg พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชูนิ้วทักทายประชาชน ที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ที่ผู้เสียหายและบาดเจ็บพักรักษาตัว จากเหตุกราดยิงโคราช ในห้างเทอร์มินัล 21 ภาพเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี อีก 5 คน โดยฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะไม่เข้าร่วมลงคะแนน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวหลังการลงมติเสร็จสิ้นว่า รู้สึกสบายใจ

การออกเสียงลงมติ ญัตติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 6 คนนั้น โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ควบคุมการลงมติ ซึ่งผลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหมด

“เรื่องด่วนลงมติญัตติเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะเป็นผู้เสนอ ดังนั้นในวาระต่อไปนี้ ก็ขออนุญาตเรียนว่า การลงมติดังกล่าวนี้ เป็นไปตามบทบัญญติของรัฐธรรมนูญ โดยขออนุญาตที่ประชุมเตรียมลงมติตามลำดับ … พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม… จำนวนผู้เข้าประชุม 323 ท่าน ไว้วางใจ 272 ท่าน ไม่ไว้วางใจ 49 ท่าน และ งดออกเสียง 2 ท่าน ไม่ลงคะแนนไม่มี… เพราะฉะนั้นจึงถือว่า ไว้วางใจ” นายชวน หลีกภัย กล่าวแก่สภาผู้แทนราษฎร

โดยผลการลงมติรัฐมนตรีที่เหลือ มีดังต่อไปนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ 277 เสียง ไม่ไว้วางใจ 50 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ผู้เข้าประชุม 329 เสียง, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 54 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ผู้เข้าประชุม 328 เสียง, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 54 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ผู้เข้าประชุม 328 เสียง, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ผู้เข้าประชุม 329 เสียง และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไว้วางใจ 269 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ผู้เข้าประชุม 331 เสียง

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังการลงมติไม่ไว้วางใจว่า รู้สึกสบายใจที่สามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าทำงานที่รออยู่ต่อไป คือ การแก้ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาเศรษฐกิจ

“เรียบร้อยนะ เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร การดำเนินการอภิปรายในครั้งนี้ก็ได้ทำตามข้อบังคับทุกประการ เท่าที่ผมฟังมาจากการชี้แจงของท่านประธานสภา ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ข้อบังคับของสภา เป็นไปตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นผมก็ขอขอบคุณทุกคนมา ณ ที่นี้ด้วย โดยเฉพาะประชาชนที่ให้กำลังใจกับรัฐบาล แต่ผมจะทำทุกอย่างให้กับทุกคนนั่นแหละ ก็สบายใจไปอย่างนึง เพราะได้ผ่านตรงนี้ไปแล้ว จะได้มีเวลาไปทำงานอย่างอื่นอีก ซึ่งมีอีกหลายงานที่รอผมอยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลนี้บ้าง เราก็ทำงานด้วยความตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ... รัฐบาลไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งของใครทั้งสิ้น เราเผชิญกับความขัดแย้งมานานแล้ว มาหลายปี เป็นสิบสิบปี อันนี้แหละมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากศักยภาพที่เรามีอยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีมติร่วมกันว่า จะงดลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อเป็นการประท้วงที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ยินยอมให้มีการขยายเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจออกไป ตามที่ฝ่ายค้านร้องขอ เมื่อคืนวันพฤหัสบดี ทำให้มี ส.ส. อดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่บางคนไม่ได้อภิปราย แม้จะเตรียมตัวมาแล้วก็ตาม แต่ในวันศุกร์ ส.ส. เหล่านั้นจึงเลือกที่อภิปรายไม่ไว้วางใจให้แก่ผู้สื่อข่าวฟังนอกห้องประชุม และได้กลับเข้าห้องประชุมสภามาร่วมลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งเป็นการขัดต่อมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 5 ราย ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้มีการประชุม ส.ส. เพื่อพิจารณาญัตติ การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีถูกโจมตีในหลายเรื่องจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน เช่น นายสุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งระบุว่า โครงการประชารัฐ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุค รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนเอกชน 24 กลุ่มทุน, นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ และ นายวิษณุ ถึงการที่รัฐบาลดำเนินการด้านภาษีศุลกากรอันเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริส, การซื้อรถถังจากประเทศยูเครนที่ส่งมอบล่าช้า แต่ไม่มีการจ่ายค่าปรับ รวมทั้ง การซื้อขายที่ดินของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้แก่บริษัทลูกของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ก่อนการยึดอำนาจ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปราย ร.อ.ธรรมนัส กรณีที่เคยถูกศาลประเทศออสเตรเลียพิพากษาจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการที่หน่วยงานทหารใช้เฟซบุ๊กปลอม ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) โจมตี คุกคาม ยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยก ในแฟนเพจ หรือเฟซบุ๊กส่วนตัวของประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล และใช้ให้ข้อมูลโจมตีกลุ่มผู้เห็นต่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ได้ลุกขึ้นตอบโต้ฝ่ายค้าน โดยระบุว่า การดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังปฏิเสธการมีอยู่ของนโยบายการใช้ไอโอด้วย

นักวิชาการชี้ รัฐบาลผ่านอภิปรายไม่ไว้วางใจ มิใช่การยืนยันประสิทธิภาพ

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐมนตรีทั้งหมดได้รับความไว้วางใจจากสภา แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า การทำงานไม่มีความบกพร่อง

“การอภิปรายไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐมนตรีทั้งหก มีคุณสมบัติที่ดี มีประสิทธิภาพในการทำงานจริงๆ เพราะมันเป็นการลงมติตามมติพรรค ฉะนั้น จะเอาคะแนนเสียงนี้มาสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลก็คงไม่ได้” นายฐิติพล กล่าว

“ผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ออกมา ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในระบบการปกครองแบบรัฐสภาที่พรรครัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก ย่อมทำให้รัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุน กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ได้เป็นกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างจริงจัง” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ขณะที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่รัฐสภา ตามสถานศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และมัธยมศึกษา หลายแห่งทั่วประเทศ ได้มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล เพราะมีจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนรุ่นใหม่ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นี้ จากกรณีที่พรรคได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคเป็นเงิน 191 ล้านบาท ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นการบริจาคเงินมากกว่าที่กฎหมายกำหนด และเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ ซึ่งนายฐิติพล คาดการณ์ว่า การชุมนุมครั้งนี้จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง

“เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะไม่นำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ เพราะรัฐบาลก็พยายามควบคุมการเคลื่อนไหวอยู่ แม้ไม่ได้ควบคุมโดยทหาร แต่ก็ควบคุมผ่านกลไกของรัฐ ผ่านกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้มีการออกคำสั่งมา เพราะฉะนั้นเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพการแสดงออกในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีอยู่จริง ดังนั้น การชุมนุมจึงอาจจะไม่ขยายตัวไปเป็นสเกลใหญ่ในช่วงเวลาอันใกล้” นายฐิติพล กล่าว

“ไม่คิดว่าการชุมนุมของนักศึกษาจะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะนักศึกษาก็ไม่ได้ต้องการความรุนแรง เขาเพียงแค่ต้องการเรียกร้อง และแสดงความคิดเห็นไปยังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ควรมาบอกว่า กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ถูกชี้นำ และถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพราะทางการเมือง” นายฐิติพล ระบุ

ทั้งนี้ วันเดียวกันมีการรณรงค์บนอินเตอร์เน็ตให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน แต่งกายด้วยชุดสีดำ เพื่อเป็นการประท้วงอย่างสันติ โดยใช้ชื่อการรณรงค์ว่า #เสื้อดำจะยำเผด็จการ โดยรณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสีดำทุกวันศุกร์ นับจากนี้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนสตรีวิทยา, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการประชุมต่อต้านรัฐบาลโดย นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มาแล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพ มีส่วนในรายงานนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง