ในหลวง ร.10 จะทรงเสด็จฯ เปิดประชุมสภา 24 พฤษภาคม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.05.20
กรุงเทพฯ
190520-TH-king-1000.jpg คนเดินผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ก่อนพระบรมราชพิธีราชาภิเษก
เอเอฟพี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นี้ ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงเลขาธิการวุฒิสภา

ในขณะเดียวกัน ภาพของการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 5 ปี ยังไม่ชัดเจน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย พรรคอันดับสี่และห้า ตามลำดับ ที่มีคะแนนเสียงรวม 103 คะแนน ยังไม่ประกาศเลือกข้างให้ชัดเจน

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 15.00 น. ที่ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ” หนังสือแจ้งเรื่องการเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งลงนามโดย นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุ

“ในการนี้ ภายหลังทรงเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ส่วนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะดำเนินการในวันถัดไป” ตอนหนึ่งของหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ระบุ

การกำหนดวันประชุมสภาครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมสภา พ.ศ. 2562 ซึ่งลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 แล้ว และตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบห้าวัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมสภานี้ สนองพระบรมราชโองการโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทย ได้แถลงข่าวและร่วมลงนามในสัตยาบันหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า ทั้ง 6 พรรค รวมถึง พรรคเศรษฐกิจใหม่อีกหนึ่งพรรค จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน และไม่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ โดยทั้ง 7 พรรครวมกันได้คะแนนเสียงในรัฐสภา 245 เสียง

นักสังเกตการณ์คาดว่า กลุ่มที่เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยทั้งเจ็ดพรรค อาจจะเสนอชื่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ เพื่อรับการคัดเลือกเป็นประธานสภา ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกือบ 500 คน (รอการเลือกตั้งใหม่และปาร์ตี้ลิสต์ รวมสองที่นั่ง) เป็นผู้ลงคะแนนเสียงรับรอง โดยการลงคะแนนลับ จะไม่ทราบว่าใครลงคะแนนเสียงให้ใคร ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ อาจจะเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส. ฉะเชิงเทรา เป็นประธาน นอกจากนั้น จะมีการเลือกรองประธานสภาอีกสองคน

ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง

ในวันจันทร์นี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังการปฐมนิเทศ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ว่า พรรคมีมติให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคฯ เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะร่วมงานกับพรรคใดในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน

“วันนี้ สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการประสานงานอย่างเป็นทางการ จากพรรคการเมืองใดๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล สมาชิกพรรคจึงมีมติมอบอำนาจให้หัวหน้าพรรค เป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับพรรคการเมืองที่ยังไม่มีมติชัดเจน ว่าจะเลือกไปร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองข้างใด โดยนายอนุทิน จะเชิญพรรคเหล่านั้นมาหารือภายใน 2-3 วันนี้ เพื่อให้เกิดมติที่ชัดเจนทางการเมือง และความชัดเจนต่อประชาชน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ในวันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือร่วมรัฐบาลกับพรรคใด เนื่องจากพรรคยังไม่ได้มีการประชุม และลงมติร่วมกัน

“ขอเวลาให้ประชาธิปัตย์ได้จัดทัพให้จบก่อน ยังมีเวลา ตอนนี้ สภาก็ได้เชิญประชุม ไม่ต้องห่วง ถึงเวลาก็จะเรียนให้ทราบ ถึงเวลาก็จะพิจารณา ยังไม่ได้มีการพิจารณาอะไรทั้งสิ้น” นายจุรินทร์ กล่าว

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรอง ส.ส. อย่างเป็นทางการทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 มี 27 พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ประกอบด้วย

พรรคเพื่อไทย ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดถึง 136 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 115 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง  พรรคชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง

ส่วนพรรคพลังปวงชนไทย  พรรคพลังชาติไทย  พรรคประชาภิวัฒน์  พรรคไทยศรีวิไลย์  พรรคพลังไทยรักไทย  พรรคครูไทยเพื่อประชาชน  พรรคประชานิยม  พรรคประชาธรรมไทย
  พรรคประชาชนปฏิรูป  พรรคพลเมืองไทย  พรรคประชาธิปไตยใหม่  พรรคพลังธรรมใหม่  และพรรคไทรักธรรม ที่ได้ ส.ส. พรรคละ 1 ที่นั่ง

และขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ประกาศร่วมกับ 11 พรรค คือ พรรคพลังชาติไทย ประชาภิวัฒน์ ไทยศรีวิไลย์ พลังไทยรักไทย ครูไทยเพื่อประชาชน ประชานิยม ประชาธรรมไทย พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่พลังธรรมใหม่ และไทรักธรรม จะรวมกันแล้วมีเสียง 126 เสียง ขณะที่พรรคอื่นๆ ยังไม่ชัดเจนว่าจะตัดสินใจร่วมกันอย่างไร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง