น้ำเขื่อนบางลางลดต่ำ หวั่นกระทบลุ่มน้ำปัตตานีและตัวเมืองยะลา
2016.08.24
ปัตตานี

ในวันพุธ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2559) นี้ เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำที่จะมีผลต่อพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ลดต่ำลงจนอยู่ในระดับวิกฤติ
ทั้งนี้ น้ำเขื่อนบางลาง เหลือปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้เพียง 177.42 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 15.06 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเข้าสู่ภาวะการขาดแคลนน้ำตลอดแนวลุ่มน้ำปัตตานี ในเวลาอันใกล้นี้ได้ และในเบื้องต้น เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของเทศบาลเมืองปัตตานี และยะลา เป็นอย่างมากแล้ว
เขื่อนบางลาง เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำปัตตานี และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเอนกประสงค์แห่งแรกของภาคใต้ น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลางสามารถอำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทานแก่พื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดยะลา และปัตตานี เป็นพื้นที่ 380,000 ไร่ ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกมาสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ถือเป็นคุณประโยชน์มหาศาลต่อประชาชนทั่วภูมิภาค
เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมประชุมกล่าวว่า สาเหตุเกิดจากการทำลายป่า 200 กว่าไร่ ทำให้ฝนทิ้งช่วงหลายเดือน อีกทั้ง ยังส่งผลให้ช้างป่า ต้องออกมาหากิน ในพื้นที่ทำกินของพี่น้องประชาชนอีกด้วย
ร.ต.ท.อรุณ กุลกัลยา รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าว หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ยะลา กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการบุกรุกป่าไม้ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้เหนือเขื่อนบางลาง ทั้งป่าฮาลาและป่าสิริกิติ์ที่มีอยู่กว่า 8 แสนไร่ ครอบคลุมเนื้อที่ 2 จังหวัด คือ ยะลา และ นราธิวาส ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าไปแล้วจำนวนมาก
“เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 59 ที่ผ่านมา จากการขึ้นบินสำรวจพื้นที่ป่า พบว่ามีป่าไม้ถูกบุกรุกไปแล้วจำนวนกว่า 200 ไร่ และที่หนักสุดคือในปี 2554 พบว่ามีการบุกรุกป่าไม้มากที่สุดในพื้นที่เหนือเขื่อนบางลาง จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางลดลง จนเกิดสภาวะขาดแคลนน้ำในอยู่ขณะนี้” ร.ต.ท.อรุณ กล่าวต่อที่ประชุม
ทางด้านนายอับดุลเลาะ ยูโซ๊ะ ชาวบ้านอำเภอบันนังสตา กล่าวเสริมว่า เมื่อน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเหลือน้อย สัตว์ป่าต้องอพยพลงมาหากินในพื้นที่ของชาวบ้าน
“เมื่อมีการทำลายป่า นอกจากน้ำในเขื่อนจะมีปริมาณน้อยลง ยังทำให้สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างต้องอพยพไปหาอาหารจากแหล่งอื่น แล้วต้องออกมาอาละวาดชาวบ้านในหลายพื้นที่” นายอับดุลเลาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง รายหนึ่งกล่าวว่า กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ได้หลบหนีเข้าไปในป่า มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า เพราะว่าคนเหล่านั้น ต้องส่งเลี้ยงครอบครัว มีการร่วมกับกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ ในการตัดไม้เอื้อผลประโยชน์แก่กัน
“การกระทำดังกล่าว กลายเป็นธุรกิจที่เอื้อประโยชน์กัน” เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ในก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.สุคนธ์ ศรีอรุณ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดยะลา กล่าวว่า เมื่อปีเดือนเมษายน 2557 นายมุกตาร์ อาลีมามะ แกนนำในระดับสั่งการ ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง 6 หมาย พร้อมด้วยลูกชาย ถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณที่มีการตัดไม้ท่อนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า มีการหักหลังเรื่องการทำไม้เถื่อนกันขึ้น จนมีการยิงกันถึงแก่ความตาย