พลเอกประยุทธ์ มีกำหนดพบโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำเนียบขาวสัปดาห์หน้า
2017.09.26
กรุงเทพฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ในวันอังคาร (26 กันยายน 2560) นี้ ตนและคณะจะเดินทางเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา จะเข้าพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือด้านการค้า และข้อราชการในวันที่ 3 ตุลาคม ตามเวลาในกรุงวอชิงตัน ดีซี
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเลือกข้างฝ่ายใดในขณะที่สหรัฐฯ มีความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือและประเทศจีนอยู่บ่อยครั้ง
“การเยือนอเมริกาไม่ได้เลือกข้าง อย่ามองเป็นเรื่องเลือกข้าง เพราะผมพร้อมพบทุกฝ่าย ยังยึดตามมติคณะความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่อเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาค” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงข่าวเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 และจะเดินทางเยือนในระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560
ในการเดินทางครั้งนี้ จะมีรัฐมนตรีหลายคนร่วมเดินทางประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นต้น
“โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย การพบหารือกับผู้แทนภาคเอกชนไทย การหารือข้อราชการกับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา การประชุมเต็มคณะ และร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งคณะนักธุรกิจจากหอการค้าสหรัฐอเมริกา และสภาธุรกิจอาเซียน–สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ” พล.ท.วีรชนกล่าว
พล.ท.วีรชนกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊คสัน และได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน
“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงและการทหาร เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข ภาคเอกชนและประชาชน รวมทั้งความสัมพันธ์ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งสหประชาชาติ เอเปค และอาเซียน เป็นต้น ซึ่งในปี 2561 ทั้งสองประเทศจะได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปี ของการติดต่อสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างไทย-สหรัฐฯ ด้วย” พล.ท.วีรชนกล่าวเพิ่มเติม
การเปิดเผยของ พล.ท.วีรชน สอดคล้องกับแถลงการณ์ของทำเนียบขาว ที่ระบุผ่านเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
“ประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ จะให้การต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ณ ทำเนียบขาว ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560 โดย ประธานาธิบดีทรัมป์หวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นประเทศหุ้นส่วนที่สำคัญและพันธมิตรหลักในทวีปเอเชียมาอย่างยาวนาน ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจะหารือกันถึงแนวทางการเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ตลอดจนยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” แถลงการณ์ระบุ
หลังการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 22 พฤษภาคม 2557 ความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ตกต่ำลง อย่างมาก โดยทันทีหลังเกิดการรัฐประหารทางการสหรัฐอเมริกาตัดสินใจระงับเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไทยในเบื้องต้น 3.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 112 ล้านบาท และทบทวนความช่วยเหลือระดับทวิภาคีต่อไทย มูลค่า 7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 224 ล้านบาท และความช่วยเหลือจากโครงการระดับสากลและระดับภูมิภาคเป็นลำดับต่อไป
จนเมื่อถึงวันที่ 27 มกราคม 2558 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เชิญนายแพทริค เมอร์ฟี่ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเข้าพบ เพื่อแสดงความกังวลใจเรื่องการแทรกแซงของสหรัฐฯ ต่อการเมืองภายในของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐอเมริกาเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองได้ฟื้นคืนตามลำดับ โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้มีการเพิ่มมาตรการกดดันประเทศเกาหลีเหนือ โดยตัดการลงทุนทางการค้าและลงทุนกับเกาหลีเหนือ และประเด็นการยิงขีปนาวุธ รวมทั้งได้ติดตามเรื่องกำหนดการเยือนสหรัฐฯ ของพลเอกประยุทธ์ด้วย