กรมบังคับคดีอายัดบัญชีเงินฝาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
2017.07.25
กรุงเทพฯ

อธิบดี กรมบังคับคดี ได้กล่าวในวันอังคาร (25 กรกฎาคม 2560) นี้ว่า ทางกรมบังคับคดี ได้เริ่มอายัดบัญชีเงินฝากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งเกี่ยวโยงกับความผิดทางแพ่ง ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระทรวงพาณิชย์จากการดำเนินโครงการ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้กำหนดวันตัดสินคดีจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ในปลายเดือนสิงหาคม นี้
ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวว่า การอายัดบัญชีเงินฝากก่อนการตัดสิน “คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว” ของนางสาวยิ่งลักษณ์ นั้น เป็นการป้องกันการโยกย้ายเงินไปยังผู้อื่น
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า กระทรวงการคลังส่งรายการทรัพย์สินของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นบัญชีธนาคารจำนวน 12 บัญชี ให้กรมบังคับคดีดำเนินการ ซึ่งในส่วนงานบังคับคดีนั้น จะดำเนินการตามที่โจทก์ร้องขอ โดยการบังคับคดีมีอายุความ 10 ปี
“ในระหว่างนี้ หากโจทก์สำรวจพบทรัพย์สินเพิ่มเติม ก็สามารถส่งรายการทรัพย์สินให้กรมบังคับคดีอายัดเพิ่มได้ตลอด ส่วนรายละเอียดทรัพย์สินไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นรายละเอียดในสำนวนคดี” น.ส.รื่นวดี กล่าวแก่สำนักข่าวเนชั่น
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นบัญชาแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 1 ปี ต่อ ป.ป.ช. รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินประมาณ 579 ล้านบาท (ไม่รวมทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส) ข้อมูลอ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจส่วนตัวว่า การที่กรมบังคับคดีอายัดบัญชีเงินฝากของตนเอง ก่อนทราบผลการพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจเป็นการชี้นำคดี แต่อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์
“อยากจะสะท้อนถึงความพยายามต่างๆ ในการกระทำที่เสมือนสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อชี้นำคดี ก่อนที่จะมีผลตัดสินของศาลฎีกาฯ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว แต่ในที่สุดรัฐบาลก็เลือกที่จะทำ เพราะคิดว่าตนมีอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ รวมทั้งไม่รอคำสั่งศาลปกครองที่ดิฉันได้ขอให้ทุเลาการบังคับคดีไว้” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุผ่านข้อความบนหน้าแฟนเพจ
“แม้วันนี้ ดิฉันจะถูกอายัดบัญชีธนาคาร และกำลังจะถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมด จนต้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลา คงได้แต่บอกว่าดิฉันยังเข้มแข็ง และพร้อมยืนหยัดต่อสู้ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจว่า ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ผ่านการแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลอย่างหมดใจ ในวันที่ 1 ส.ค.” ตอนหนึ่งของข้อความระบุ
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับฟ้องคดีคดีจำนำข้าว หรือ คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว มีเลขคดี อม.22/2558 ซึ่งเป็นการฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ซึ่งหากผิดจริงจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี
ในส่วนโทษทางแพ่งนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ในปี 2558 และเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ในภายหลัง เพื่อเรียกค่าเงินชดเชยจากผู้กระทำผิด ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯ ได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเงิน 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวที่ 178,586 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ในเดือนตุลาคม 2559 กระทรวงการคลังได้ประเมินความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวเสร็จสิ้น และได้ส่งหนังสือเตือนการยึดทรัพย์ให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้นำเรื่องการยึดทรัพย์ฟ้องต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ พร้อมขอให้ศาลคุ้มครองทุเลาการยึดทรัพย์ อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 เมษายน 2560 ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการยึดทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
คดีโครงการรับจำนำข้าว
ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ใช้โครงการรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในโครงการหาเสียงหลัก ร่วมกับโครงการลดภาษีรถคันแรก บ้านหลังแรก และกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเมื่อได้รับการเลือกตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวจริง โดยรัฐบาลจ่ายเงินให้กับชาวนาที่นำข้าวมาจำนำในมูลค่าสูงที่สุดถึง 15,000 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น
ระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว หลายฝ่ายได้เปิดเผยข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับโครงการนี้ เช่น ข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำกับรัฐบาลสูญหาย ข้าวที่ถูกเก็บไว้เสื่อมคุณภาพ และส่งผลให้ข้าวเสื่อมราคา โดยมีการประเมินมูลค่าความเสียหายจากโครงการนี้เบื้องต้นเป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท
ปี 2555 พรรคประชาธิปัตย์จึงยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าว
วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในกรณีดังกล่าวก่อนส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557
วันที่ 23 มกราคม 2558 อสส. มีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีจำนำข้าวฯ ต่อศาลฎีกาฯ วันเดียวกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนน 190:18 เสียง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และวันที่ 19 มีนาคม 2558 (วันนัดอ่านคำสั่ง) ศาลฎีกาฯ มีมติรับฟ้องคดีจำนำข้าว มีเลขคดี อม.22/2558
วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีครั้งแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากมูลค่า 30 ล้านบาท มีการนัดสืบพยานตั้งแต่ปี 2558–2559
วันที่ 21 กันยายน 2559 คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเงิน 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวมูลค่า 178,586 ล้านบาท รัฐบาลจึงได้พยายามเดินหน้ายึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์
การไต่สวนคดีจำนำข้าวฯ เสร็จสิ้นแล้ว โดยมี พยานโจทก์และจำเลยรวม 45 ปาก เริ่มตั้งแต่ 15 มกราคม 2559–21 กรกฎาคม 2560 รวมเวลากว่า 2 ปี โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นศาล 26 นัด ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 และ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560