กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันพบผู้ป่วยไข้ซิกาในไทยจริง แต่ผู้ป่วยกลับบ้านได้แล้ว
2016.02.02

ในวันอังคาร (2 ก.พ. 2559) นพ. อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และคณะได้ร่วมแถลงข่าวว่า พบผู้ป่วยหนึ่งรายในเดือนมกราคม แต่ผู้ป่วยกลับบ้านได้แล้ว และสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ถือว่าอยู่ในระดับโรคระบาด
ในการแถลงข่าวที่กรมควบคุมโรค พล.อ.ต.สันติ กล่าวว่า ข่าวที่ว่าพบผู้ป่วยไข้ซิกาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชเป็นความจริง โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอายุราว 20 ปีเศษ เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ตาแดง ผื่น และเมื่อยตัว ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ต่อมามีอาการดีขึ้นตามลำดับจนสามารถกลับบ้านไปตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม นี้ แล้ว สำหรับกรณีนี้ จึงไม่ถือว่าคนไข้รายดังกล่าวเป็นพาหะนำโรค
ทางด้าน นพ. อำนวย กล่าวว่า สถานการณ์ไข้ซิก้าในประเทศ ยังไม่ได้ถือว่าเป็นการระบาด
“สถานการณ์ในประเทศเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ยังไม่ถือเป็นสถานการณ์การระบาดเหมือนกับที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ และเท่าที่ผ่านมาประเทศเรา ยังไม่เคยมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา” นพ.อำนวย กล่าวในการแถลงข่าว
ทางด้าน ดร. พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ หัวหน้ากลุ่มเฝ้าระวังสื่อและตอบโต้และภาพลักษณ์ กรมควบคุมโรค ยังได้ให้ข้อมูลกับเบนาร์นิวส์ว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้ซิการายแรกในปี 2555 และหลังจากนั้น พบผู้ป่วยโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ราย ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการวางระบบเฝ้าระวัง โรคนี้แล้ว ตั้งแต่ปี 2556 จึงสามารถทำให้ตรวจจับโรคได้ ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนยังไม่มีระบบป้องกันแต่อย่างใด
สำหรับมาตรการป้องกันของกรมควบคุมโรค นพ.อำนวยให้ข้อมูลว่า “มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทำไป มีการกำจัดทั้งตัวยุงและแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการนำโรคมาสู่คน ได้ทำมาอย่างเข้มข้น และในสัปดาห์นี้ และสัปดาห์หน้าจะมีการรณรงค์จริงจังกันทั่วทั้งประเทศ”
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังได้ประสานไปยังราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้สังเกตเป็นพิเศษในกรณีทารกแรกเกิดที่มีศรีษะเล็กจากการติดเชื้อไข้ซิกา และยังประกาศอีกว่า หากประชาชนพบผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ปวดศรีษะรุนแรง มีผื่น ตาแดง และปวดข้อ ซึ่งสงสัยว่าจะเกิดจากอาการไข้ซิกาให้รีบเข้ารับการรักษา และแจ้งให้กรมควบคุมโรคทราบ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคต่อไป
ในวันจันทร์ แพทย์หญิงมาร์กาเรต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารขององค์การฯ เป็นการด่วน ในกรุงเจนีวา เพื่อหาทางควบคุมการระบาดโรคไวรัสซิกา ที่อยู่ในระดับที่น่ากังวลในบราซิล เพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ หรือส่วนอื่นๆ ของโลก และได้ออกประกาศเตือนไปยังประเทศต่างๆ
สำหรับเหตุผลของการประกาศเตือนการระบาดของไวรัสซิกานั้น เพราะว่า แม้ว่าไข้ไวรัสซิกา ไม่มีผลกระทบรุนแรงในผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ใหญ่ แต่จะมีผลรุนแรงมากหากเกิดกับทารกแรกเกิดถึงสิบสองสัปดาห์ เนื่องจากไวรัสจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็ก และทำให้เกิดอาการสมองลีบเล็กได้ จึงต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ