กรมควบคุมโรค : พบผู้ป่วยฝีดาษวานรพันธุ์ใหม่รายแรกในไทย ปี 67
2024.08.21
กรุงเทพฯ

กรมควบคุมโรค แถลงด่วน ระบุว่า ตรวจสอบผู้ป่วยฝีดาษวานร (Mpox) สายพันธุ์ใหม่รายแรกของประเทศไทยในปี 2567 โดยจะได้มีการตรวจสอบผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยรายดังกล่าว 43 คน และเตือนให้ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาเฝ้าสังเกตอาการเป็นพิเศษ เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า โรคชนิดนี้มีการระบาด และให้เฝ้าระวังในแอฟริกา
“พบผู้ป่วยสงสัย ฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ Clade I (หนึ่ง) เป็นเพศชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเดินทางมาถึงประเทศไทย วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. และในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 มีอาการป่วย มีไข้ เข้าได้กับโรคฝีดาษวานร” นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ฝีดาษวานร (Monkeypox) หรือปัจจุบันเรียกว่า โรคเอ็มพอกซ์ (Mpox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มใกล้เคียงกับไข้ทรพิษหรือฝีดาษ (Smallpox) แต่เดิมเป็นการแพร่จากสัตว์สู่คน ถูกพบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นในแอฟริกา ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยหลายพันราย และมีผู้เสียชีวิตร่วมร้อยคนในแต่ละปี โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
เอ็มพอกซ์ แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลักคือ Clade 1 และ Clade 2 โดยสายพันธุ์ 1 ความรุนแรงสูงกว่าสายพันธุ์ 2 โดยในปี 2565 มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการเป็นผู้ติดเชื้อ 10 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุด Clade 1 ได้กลายพันธุ์เป็น Clade 1b นับเป็นสายพันธุ์ใหม่ซึ่งแพร่ระบาดได้รวดเร็ว และอันตรายกว่าเดิม
“ผู้ป่วยรายดังกล่าว เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งผลตรวจเชื้อโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์ Clade II (สอง) ให้ผลเป็นลบ ส่วนสายพันธุ์ Clade Ib (หนึ่งบี) ให้ผลไม่ชัดเจน จึงต้องตรวจใหม่ และอยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน แม้ว่าผลการตรวจยังไม่ชัดเจน แต่ประชาชนควรตระหนักถึงอันตรายของโรค และขณะนี้ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย” นพ. ธงชัย กล่าว
นพ. ธงชัย ระบุว่า จากการสอบสวนโรคมีผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยรายดังกล่าว 43 ราย โดยหลังจากนี้ ขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาสังเกตอาการภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa Centres for Disease Control and Prevention) ระบุว่า ในปี 2567 พบผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์นี้มากกว่า 14,500 ราย และเสียชีวิตแล้วกว่า 450 ราย ซึ่งนับติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 160% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19% ปัจจุบัน พบการแพร่ระบาดในประเทศคองโก บุรุนดี เคนยา รวันดา ยูกันดา และโกตดิวัวร์
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคระบุว่า ผู้ที่กลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ โดนการวัดอุณหภูมิร่างกาย สอบถามอาการ และสังเกตผื่นตามร่างกาย
หากมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จะมีการแยกกักผู้เดินทาง ซักประวัติ ตรวจร่างกายเพิ่มเติม พร้อมเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อส่งห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ และส่งผู้ป่วยต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด โดยได้เรียกประชุมร่วมกับกรมควบคุมโรคและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว
“ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรที่กำลังแพร่ระบาดและพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากในทวีปแอฟริกาอย่างใกล้ชิด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขที่มีผลกระทบระหว่างประเทศ มอบหมายให้ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เร่งดำเนินการตรวจสอบ” นายสมศักดิ์ ระบุ
ในเดือนกรกฎาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทยหลบหนีการรักษาที่จังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถตรวจพบ และนำตัวกลับมารักษาได้
ปัจจุบัน อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยเอ็มพอกซ์สะสม 822 คน และหากนับเฉพาะปี 2567 พบผู้ติดเชื้อ 135 คน