ประเทศไทยรายงาน ทารกศีรษะเล็กที่เกิดจากเชื้อไข้ซิกา สองรายแรกของประเทศ
2016.09.30
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์(30 กันยายน 2559)นี้ ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) เปิดเผยผลการประชุมโดยยืนยันว่า ทารก 2 จากทั้งหมด 3 รายที่พบว่ามีอาการศีรษะเล็กเป็นผลมาจากการติดเชื้อไข้ไวรัสซิกา ขณะที่อีก 1 รายไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ชัดเจนได้ ส่วนทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาซึ่งติดเชื้อไข้ไวรัสซิกายังไม่พบอาการศีรษะเล็ก
นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า ทารกศีรษะเล็ก 2 รายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการที่แม่ติดเชื้อไวรัสซิกาขณะตั้งครรภ์ โดยถือว่าเป็น 2 รายแรกของประเทศไทย
“เมื่อพิจารณาข้อมูลของระบาดวิทยา ข้อมูลทางเทคนิค และข้อมูลการตรวจห้องปฎิบัติการ คณะกรรมการวิชาการจึงลงความเห็นมีมติว่า เป็นเด็กศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกาในครรภ์มารดา รายที่หนึ่งยืนยันได้จากการตรวจปฎิกริยาน้ำเหลือง ผู้ป่วยรายที่สองยืนยันด้วยการตรวจปัสสาวะ” นพ.ประเสริฐกล่าว
นพ.ประเสริฐให้ข้อมูลว่า แม่ของทารกที่มีศีรษะเล็กรายแรกเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการป่วย ขณะที่แม่ของทารกศีรษะเล็กรายที่สองพบอาการผื่นขณะตั้งครรภ์
“ผู้ป่วยรายที่สามพบว่ามีศีรษะเล็กจริง แต่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัดเจน จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม” นพ.ประเสริฐระบุ
“จากการทบทวนข้อมูลผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิกายังไม่คลอด วินัจฉัยว่าหญิงตั้งครรภ์รายนี้ ติดเชื้อไวรัสซิกาแต่ไม่มีอาการ แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเด็กมีภาวะศีรษะเล็กในครรภ์ได้ในขณะนี้ต้องติดตามต่อไป สรุปจากการติดตามเฝ้าระวังทารกศีรษะเล็กจากไวรัสซิกาในครรภ์มารดาพบ 2 รายแล้วในประเทศไทย” นพ.ประเสริฐสรุป
ตามแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) การประชุมแถลงผลของประเทศไทยครั้งนี้ ส่งผลให้เป็นเด็กศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกาสองรายแรก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"หากพบว่ามีการเกี่ยวพันธ์กัน จะถือเป็นรายแรกของ เด็กศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากมาจากเชื้อไวรัสซิกา อาจจะต้องมีการระบุชนิดของไวรัส โดยการตรวจสอบว่าเป็น สายพันธุ์ท้องถิ่นหรือสายพันธุ์นำเข้า" ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงนิวเดลี กล่าวก่อนหน้าที่คณะกรรมการด้านวิชาการ กระทรวงสาธารณสุขไทยจะมีการแถลงรายงานผลวินิจฉัยในวันนี้ ระบุว่า ทั้งสี่กรณีเป็นการติดต่อระหว่างมารดาที่ติดเชื้อซิกาและทารกจากมดลูก
"การติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของหญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์ ในหลายประเทศทั่วภูมิภาค จะต้องดำเนินการเพื่อเสริมสร้างมาตรการ เพื่อให้มีการป้องกัน การตรวจจับ และการรับมือ หากมีการแพร่เชื้อไวรัสซิกา" ดร. ปูนำ เคทราพาล ซิงห์ ผู้อำนวยการภูมิภาค หน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติ กล่าววันศุกร์ หลังจากที่ประเทศไทยมีการแถลงผลข้อมูลการตรวจหญิงและเด็กทารกทั้งสี่คู่
"องค์การอนามัยโลก ยังเรียกร้องให้หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงประชาชนทั่วไปให้มีความระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการสวมใส่เสื้อแขนยาว เสื้อผ้าสีสว่าง ใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง และหน้าต่างควรมีมุ้งลวดให้มิดชิดทุกที่ " ดร.ซิงห์เพิ่มเติม
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังการประชุมวิชาการครั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะได้วางมาตรการดูแลหญิงตั้งครรภ์ และทารกศีรษะเล็กที่ตรวจพบ โดยจะได้มีการจัดทำคู่มือเพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลที่จะให้การดูแลด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยต่อไป ขณะเดียวกันขอร้องให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก หรือวิตกกับข่าวจนเกินไป เนื่องจากเชื่อว่าไข้ไวรัสซิกามีผลกระทบไม่มากอย่างที่หลายคนเข้าใจ
“ถ้าตั้งครรภ์ต้องไปฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ ดีที่สุดคือภายใน 2 เดือน จะได้มีการเจาะเลือด ทำอัลตราซาวน์ครั้งแรก และเฝ้าระวังว่ามีผื่นขึ้นรึเปล่า ให้วัคซีน ให้ธาตุเหล็กให้ครบถ้วน ต้องสื่อสารว่าโรคนี้ไม่เป็นอันตรายต่อทุกคน เป็นอันตรายเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ และไม่ใช่ติดแล้วจะสมองเล็กทุกคน เราทราบว่ามันไม่มาก คงจะต่ำกว่า 1 ใน 5” นพ.พรเทพกล่าว
ขณะเดียวกัน น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จากสาขาประสาทวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นอกจากไวรัสซิกาจะมีผลกระทบกับหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังอาจมีผลต่อสมอง และระบบประสาทกับคนไข้บางรายได้ แต่ถือว่าเป็นส่วนน้อย และเกิดได้ไม่บ่อยซึ่งในประเทศไทยพบอาการในลักษณะดังกล่าวเพียง 1 รายเท่านั้น
“อย่างน้อยที่สุดก็มี 1 รายที่หายใจไม่ได้ และก็แขนขาอ่อนแรง ขณะนี้ก็รอดชีวิตและกลับบ้านได้แล้ว” น.พ.ธีระวัฒน์กล่าว
การประชุมครั้งนี้ มีผู้ร่วมประชุมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์หลายสาขา ทั้งด้านโรคติดต่อ กุมารแพทย์ รวมไปถึงสัตว์แพทย์ด้วย โดยที่ประชุมยังได้เสนอมาตรฐานในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา โดยเรียกร้องให้ประชาชน ควบคุมและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณที่อยู่อาศัย หญิงตั้งครรภ์ต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากคนสู่ยุง โดยแนะนำให้ทุกคนทายากันยุง และหญิงตั้งครรภ์ต้องมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัย
ศูนย์ป้องกันควบคุมโรค สหรัฐฯ ออกคำเตือนเรื่องการเดินทาง คำแนะนำการมีเพศสัมพันธ์
ในวันเดียวกัน ศูนย์ป้องกันควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา สำนักงานประเทศไทย (CDC) ได้ออกคำเตือนสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ หรือผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อไวรัสซิกา – หรือผู้ที่แม้จะไม่แสดงอาการของเชื้อไวรัสนี้ก็ตาม - ควรจะต้องรออย่างน้อยหกเดือนก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ หลังจากกลับมาจากพื้นที่ที่มีรายงานของการติดเชื้อดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางศูนย์ฯได้ออกคำแนะนำให้ละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยแปดสัปดาห์ หลังจากกลับมาจากพื้นที่ที่สันนิษฐานว่ามีผู้ติดเชื้อซิกา
เชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่จะถูกแพร่เชื้อโดยยุงลายที่มีเชื้อซิกา ซึ่งไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายจากหญิงตั้งครรภ์ ไปสู่ทารกในครรภ์ และสามารถทำให้ทารกเกิดข้อบกพร่องตั้งแต่กำเนิด
หากยุงกัดผู้ที่มีเชื้อไวรัสซิกา ยุงจะกลายเป็นพาหะนำเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อ เมื่อไปกัดคนอื่นต่อไป ผู้ติดเชื้อไวรัสซิกายังสามารถจะแพร่เชื้อต่อคู่ของตนทางเพศสัมพันธ์ด้วย
สถิติผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาสะสมของประเทศไทยในปี 2559 พบมี 130 ราย โดย 97 รายพบในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ 33 ราย พบระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน ซึ่งการตรวจพบทั้งหมดเป็นการเก็บข้อมูลจากประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นรายที่มีอาการป่วยและเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลทั่วประเทศ