เขตสาทร พบหญิงตั้งครรภ์และเพื่อนบ้านติดเชื้อซิกา รวม 22 ราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.09.12
กรุงเทพฯ
TH-fumigation-1000 เจ้าหน้าที่เทศบาลเร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามพื้นที่ที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสซิกา ในเขตกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559
เอเอฟพี

ในวันจันทร์ (12 กันยายน 2559) นี้ สำนักอนามัย กรุงเทพฯ ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในเขตกรุงเทพฯ 22 คนจริง เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบเป็นหญิงตั้งครรภ์ ในขณะที่สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในวันเดียวกันว่า จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2559 มีผู้ติดเชื้อสะสม 97 คน ทั่วประเทศที่พบก่อนหน้านั้น หลายรายหายขาดแล้ว

นายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพฯ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ในเขตสาทร กรุงเทพมหานคร ได้มีการพบผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสซิการายแรก เป็นหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งนำมาซึ่งการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมได้อีก 21 คน

“เริ่มจากที่มีคนไข้เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ แล้วไปตรวจที่โรงพยาบาล แล้วพบเป็นไข้และมีผื่น ก็เลยเจอว่ามีการติดเชื้อ และหลังจากนั้นเราก็ไปสืบค้นเพิ่มเติม เราก็ไปดูในละแวกที่เขาอาศัยอยู่ ก็เจอคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นที่เขตสาทร” นายแพทย์วงวัฒน์ กล่าว

“เราก็ไปตรวจดูรัศมีรอบบ้านผู้ติดเชื้อ 100 เมตร ที่ยุงสามารถบินได้ เราก็ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เราก็เจอ แล้วเราก็ควบคุมตามมาตรฐาน คือ แหล่งเพาะพันธุ์ยุง” นพ.วงวัฒน์กล่าวเพิ่มเติม

นพ.วงวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตนมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาใน กทม.ได้ เนื่องจากได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งบริเวณรอบบ้านผู้ป่วยในรัศมีร้อยเมตรแล้ว และปัจจุบันเป็นระยะเวลา 5 วันแล้ว ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม

“หัวใจอยู่ที่การค้นหาผู้ป่วยให้เจอ พยายามอย่าให้เขาโดนยุงกัด และพยายามจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ และยุงตัวแก่ที่มีเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 7 (กันยายน) จนถึงปัจจุบัน ไม่มีรายงานเพิ่มเติม ก็น่าจะโอเค น่าจะควบคุมได้อยู่” นพ.วงวัฒน์ กล่าว

“ปกติเราจะเฝ้าระวังโดย ตั้งแต่เคสสุดท้ายที่เราเจอ อย่างน้อย 28-30 วัน ถ้าหลังจากนี้ไม่มีรายงานอีกเลย ก็แสดงว่าน่าจะจบ” รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวเพิ่มเติม

นพ.วงวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรงมาก จะมีอาการไข้ และมีผื่นเล็กน้อย ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ เพราะไม่ยารักษาโรคโดยเฉพาะ ซึ่งอาการจะหายไปได้เองในเวลาหนึ่งอาทิตย์

สำหรับผู้หญิงตั้งท้อง ไวรัสซิกาอาจจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาการของสมองเด็กได้ ซึ่งในกรณีที่พบนี้ นพ.วงวัฒน์ กล่าวว่า ทางแพทย์ได้ให้การรักษาตามอาการ และดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

“เพียงแต่เราต้องระวังคนที่ไม่สบาย มีไข้ มีผื่น เขาอาจจะมีเชื้อตัวไวรัสอยู่ในกระแสเลือด ขอความร่วมมือ(คนติดเชื้อ)อย่าให้ยุงกัด เพราะยุงจะเอาเลือดผู้มีเชื้อไปเผยแพร่ต่อ โดยให้ทากันยุง นอนในมุ้ง” นพ.วงวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

สำนักอนามัย กทม. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เขตสาทร หลังพบหญิงตั้งท้องติดเชื้อไวรัสซิกา 12 กันยายน 2559 (เบนาร์นิวส์)

สถานการณ์โรคซิกาทั่วประเทศ

เมื่อต้นเดือนกันยายน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของยุโรป (ECDC) ระบุว่า สถานการณ์ไวรัสซิก้า ของไทย อยู่ในระดับสีแดง นับจากการแพร่ระบาดในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย มีผู้ติดเชื้อซิกาจำนวน 97 ราย ในเฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2559

ในวันนี้ น.พ.อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2559 มีผู้ติดเชื้อสะสม 97 คน ซึ่งหลายรายหายขาดแล้ว

“ตั้งแต่ต้นปี 2559 จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วย(ไข้ไวรัสซิกา)ทั่วประเทศจำนวน 97 รายใน 16 จังหวัด แต่สถานการณ์ขณะนี้ ควบคุมได้ โดยมี 12 อำเภอ ใน 6 จังหวัด ที่อยู่ระหว่างควบคุมและค้นหาผู้ป่วย ซึ่งหน่วยงานรัฐจะร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มแข็งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” น.พ.อนุตรศักดิ์ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง