กองทัพภาคสี่เซ็นเอ็มโอยูผู้นำศาสนา-ท้องถิ่นร่วมดับไฟใต้
2017.09.07
ปัตตานี

ในวันพฤหัสบดี (7 กันยายน 2560) พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานในพิธีเปิดลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับผู้นำสี่เสาหลักในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นแนวทางในต่อสู้กับสถานการณ์รุนแรงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 13 ปี และมีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 ราย
ที่ห้องประชุมกองพลทหารราบที่ 15 ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พลโทปิยวัฒน์ พร้อมด้วย นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่ารายการจังหวัดปัตตานี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่าม ปราชญ์ชาวบ้าน คณะกรรมการประจำหมูบ้าน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมในกิจกรรมนี้กว่า 600 คน
สำหรับสี่เสาหลักที่ทางการได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมด้วย คือ อิหม่าม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปราชญ์ท้องถิ่น ที่จะเป็น “4 เสาหลัก 4 ประสาน สร้างรากฐานหมู่บ้าน ตำบลเข้มแข็ง สู่หมู่บ้าน ชุมชนศรัธา เพื่ออำนวยบรรยกาศการพูดคุยสันติสุข”
ทั้งนี้ พลโทปิยวัฒน์ กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ด้วยการบูรณาการกำลังทุกภาคส่วน ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน
"ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับผู้นำ 4 เสาหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำศาสนาให้เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในมิติศาสนาที่บริสุทธิ์ ตามแนวทางกำปงตักวาเพื่อสร้างกฎของชุมชนที่เข้มแข็ง โดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการขับเคลื่อนไปแล้วกว่า 1,700 มัสยิด" พลโทปิยวัฒน์ กล่าวในพิธี ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา กองทัพภาคที่สี่ได้ขอความร่วมมือจากเสาหลักทั้งสี่ แต่ยังไม่เคยมีการลงนามในเอ็มโอยู
“และมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กำลังภาคประชาชนภายใต้การนำของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้วยการจัดตั้งชุดคุ้มครองตำบล ซึ่งในปีหน้าได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเพิ่มเติมอีก 60 ตำบล รวมเป็น 167 ชุด ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่และชุมชนของตนเองแทนกำลังทหารที่ทยอยปรับลดลงไปเรื่อยๆ” พลโทปิยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อเดือนมีนาคม 2560 นี้ พลเอกปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูแลด้านการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน ได้กล่าวว่า ทางการต้องการจัดตั้งชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ที่เป็นอาสาสมัคร เพิ่มขึ้นอีก 110 ชุด จากที่มีอยู่แล้วในขณะนั้น 109 ชุด เพื่อให้คุ้มครองประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ในส่วนของกำลังทหารจากภาคอื่นนั้นๆ ในปัจจุบัน ได้มีการถอนกำลังออกไปจนเหลือกำลังพลเพียงแค่ประมาณ 10,000 คน และมีการใช้กำลังในพื้นที่ทดแทน
พลโทปิยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทาง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงยึดมั่นการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีภายใต้หลักกฎหมายนำ เพื่อความถูกต้องความจริงใจ และอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
"จึงได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักปราชญ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข" พลโทปิยวัฒน์ กล่าว
"ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยเฉพาการเน้นทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกันเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจะสงบได้ทุกคนต้องร่วมกันจะใช้วิธีไหนก็ตามแต่เป้าหมายคือเพื่อความสงบสุขของพี่น้อง" นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าว
ด้านนายอาลาวี มะยีเลาะ ชาว จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น มีมิติทางการเมืองผสมซ่อนเงื่อนอยู่
“ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดตอนนี้ แก่นแท้ของมันคือการเมือง ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่คนเหล่านั้นอาศัยจุดนี้มาหาผลประโยชน์ เพื่ออำนาจทางการเมืองของกลุ่มตน ในขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อนเหมือนเดิม ส่วนรัฐสนุกกับการโกยงบประมาณลงพื้นที่ให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ทุกวันนี้ มีปัญหามาก กับโครงการต่างๆ ที่ลงไปในพื้นที่” นายอาลาวี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์