ไทย-บีอาร์เอ็นเห็นชอบกับความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข 40 วัน
2022.04.01
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี

เจ้าหน้าที่ไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ตกลงที่จะยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการชั่วคราวในระหว่างเดือนรอมฎอน และทางการไทยจะอนุญาตให้สมาชิกผู้ก่อความไม่สงบ กลับมาเยี่ยมบ้านในเดือนศักดิ์สิทธิ์ได้ในห้วงเวลานี้ ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา และตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น กล่าวหลังการเจรจาสิ้นสุดลงในวันศุกร์นี้
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ และตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (นายฮีพนี มะเร๊ะ) ได้พูดคุยแบบตัวต่อตัวในกรุงกัมลาลัมเปอร์ เมื่อวันพฤหัสบดีและสิ้นสุดลงในวันศุกร์นี้ นับเป็นการเจรจาแบบเต็มคณะของสองฝ่ายเป็นครั้งที่สี่
ในการนี้ นายอับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา กล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในวาระที่จะลดความรุนแรงของสถานการณ์ในเดือนรอมฎอน” อันเป็นเดือนถือศีลอดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะเริ่มต้นในสุดสัปดาห์นี้ อันเป็น “มาตรการสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจระหว่างกัน”
นายราฮิม นูร์ กล่าวอีกว่า ทางการไทยยินยอมให้สมาชิกขบวนการที่ติดคุกอยู่กลับไปเยี่ยมบ้านได้ในวันฮารีรายอ ส่วนที่หลบหนีอยู่ ก็ให้กลับมาเยี่ยมบ้านได้ หากได้ลงทะเบียนกับทางการมาเลเซีย และไม่พกพาอาวุธ
นายราฮิม นูร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางการไทยจะงดการจับกุม หรือปิดล้อมในเดือนรอมฎอนนี้ ขณะที่ทางบีอาร์เอ็นตกลงที่จะยุติการก่อเหตรุนแรงในเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางการไทยจะกลับมาใช้มาตรการทางกฎหมายอีก หากฝ่ายขบวนการละเมิดข้อตกลง
ข้อตกลงรอมฎอนในการลดเหตุรุนแรง “เป็นการแสดงให้โลกเห็นว่ายังมีความหวังในสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ และยังมีโอกาสในการแก้ปัญหาที่ถูกจุดด้วยวิธีการเจรจา” นายราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ข้อมูลของนายราฮิม นูร์ สอดคล้องกับข้อมูลที่ พล.ท. ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ก่อนเริ่มการเจรจารอบนี้ว่า จะยินยอมให้สมาชิกมาปฏิบัติศาสนกิจได้ หากไม่มีการก่อเหตุรุนแรงขึ้น
ด้านตัวแทนบีอาร์เอ็นกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายจะยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้” อันเป็นส่วนหนึ่งของ “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข (Ramadan Peace Initiative)” ไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม นี้
“ข้อตกลงนี้เป็นไปเพื่อสร้างบรรยากาศที่สันติสุขและรุ่งโรจน์สำหรับชุมชนชาวปาตานี และเป็นกระบวนการสร้างความมั่นใจระหว่างกันของทั้งสองฝ่ายในการสร้างสันติภาพสืบไป” อุสตาซ อานัส กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้
อนึ่ง พลเอก วัลลภ รักเสนาะ จะแถลงข่าวถึงผลการเจรจาจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ในตอนบ่ายวันเสาร์นี้
นายราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขของมาเลเซีย พูดกับนักข่าวหลังการประชุมไทย-บีอาร์เอ็น ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 1 เมษายน 2565 (เอส. มาห์ฟุซ/เบนาร์นิวส์)
นางเยาว์วดี ดอเลาะ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า การเจรจาเพื่อสันติภาพ ถือว่าเป็นสิ่งทีดี เพราะสองฝ่ายคือคู่กรณีที่ต้องแก้ไขปัญหา
“ก็ถือเป็นเรื่องดี ถ้าสามารถทำได้ชาวบ้านจะได้ใช้ชีวิตปกติได้ ก็ภาวนาขอให้สงบไปตลอดจริง ๆ ส่วนตัวมองว่ามันทำได้ เพราะทหารก็คุมกำลังของเขาได้ ที่ก่อเหตุกันอยู่บีอาร์เอ็นก็คุมคนของเขาได้ ถ้าสองฝ่ายนี้ตกลงร่วมกันจะหยุดยิงมันก็ทำได้อยู่แล้ว เจ้าปัญหาในภาคใต้ก็สองกลุ่มนี้แหละที่เป็นตัวหลัก” นางเยาว์วดี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
อย่างไรก็ตาม ในก่อนเวลาพลบค่ำของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันแรกของการเจรจา ได้เกิดเหตุคนร้ายยิงนายอามัดสุกรี ลาเต๊ะ ซึ่งเป็นน้องชายของนายอับดุล อาซิซ ยาบาล (หรือ Abdul Aziz Jabal) หนึ่งในสมาชิกผู้แทนคณะเจรจาของฝ่ายบีอาร์เอ็นได้รับบาดเจ็บ ในอำเภอเมือง จังหวัดยะลา
เพจ BRN Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani ได้โพสต์ประณามว่าเป็นการกระทำที่สกปรก ส่วน พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ใครเป็นคนร้ายและมีสาเหตุมาจากเรื่องใด ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนหาสาเหตุอยู่
เหตุการณ์ยิงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอีก 2 นาย ในวันพุธ
ตามสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก่อความไม่สงบอีกระลอกใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย โดยกระบวนการพูดคุยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2556
บีอาร์เอ็น เป็นองค์กรลับของกลุ่มปาตานี ที่ก่อกำเนิดมาเมื่อ 62 ปีก่อน เดิมมีจุดประสงค์ที่จะสถาปนาเอกราชในพื้นที่ “ปาตานี ดารุสสลาม” ที่ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา มีสมาชิกเคลื่อนไหวข้ามชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยสองฝ่ายได้เจรจาเต็มคณะครั้งก่อนในเดือนมกราคมนี้
ด้าน ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ แสดงความหวังว่าการลดความรุนแรงจะดำเนินไปได้
“ถ้าทั้งสองฝ่ายยอมรับก็เป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จ โดยเฉพาะฝ่ายทหารริเริ่มที่จะทำก่อน ครั้งนี้ฝ่ายทหารกองทัพภาคที่ 4 มีความยินดีที่จะพูดคุย ประกอบกับการที่บีอาร์เอ็นตกลงร่วมด้วย ก็เป็นไปได้สูง” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าว
“บีอาร์เอ็นต้องสร้างกลไกประสานงาน ประเมินผล... ที่สำคัญจะต้องมีการพูดคุยต่อไป ต้องประเมินหากมีเหตุเกิดขึ้น ถ้าเกิดจากกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่บีอาร์เอ็น ก็ต้องมีการประเมิน มีกลไกในการร่วมประเมินตรงนั้น และร่วมกันป้องกันไม่ให้มีเหตุเกิดขึ้นในช่วงนั้นให้ได้”
ข้อตกลงสามประการ
นายราฮิม นูร์ และอุสตาซ อานัส กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยมีการตกลงใน “หลักการโดยทั่วไป” (General Principles) ในสามหัวข้อ คือ การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ การปรึกษาหารือในพื้นที่ และทางออกตามวิถีการเมือง
“การพูดคุยได้ผลลัพธ์ในทางบวก โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันใน “หลักการโดยทั่วไป” ที่จะใช้ในการพูดคุยถึงสามหัวข้อนั้นต่อไป” นายราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ และระบุว่าทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเอกสารข้อตกลงที่ลงนามโดยผู้สังเกตการณ์อิสระ
แหล่งข่าวที่เชี่ยวชาญสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ บอกเบนาร์นิวส์ว่า องค์กรเอ็นจีโอที่มีฐานในสวิตเซอร์แลนด์แห่งหนึ่ง ได้จัดการพูดคุยนอกรอบผ่านทางออนไลน์ระหว่างคณะของบีอาร์เอ็นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยไม่ได้แจ้งให้ทางมาเลเซียทราบ และช่วยให้เกิดการตกลงในเบื้องต้นต่อสามหัวข้อดังกล่าว ในการเจรจาของสองฝ่ายเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งได้นำมาใช้เป็นโรดแมปในการเจรจาในขณะนี้
นายราฮิม นูร์ และอุสตาซ อานัส กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้เซ็นเอกสารข้อตกลงโดยตรง แต่ได้ทำหนังสือสนับสนุน “หลักการโดยทั่วไป” ดังกล่าว
ความพยายามของรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นนั้น ควรเป็นที่ได้รับรู้และสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติเพราะคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายได้แสดงความน่าเชื่อถือและความมุ่งมั่นต่อการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้” นายราฮิม นูร์ กล่าว
นายราฮิม นูร์ และอุสตาซ อานัส ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันสามคณะ โดยแต่ละคณะจะมีสมาชิกจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายละสามคน และผู้ติดต่ออีกหนึ่งคน เพื่อทำการปรึกษาหารือในสามหัวข้อนั้นต่อไป
นอกจากนั้น อุสตาซ อานัส ระบุว่า ยังได้มีการพูดคุยถึงเรื่องกรอบการทำงาน หรือทีโออาร์ สำหรับแต่ละคณะทำงาน แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียด
เมื่อเบนาร์นิวส์ถามนายราฮิม นูร์ ว่ามาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาโดยวางตัวเป็นกลางได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะมีผู้สังเกตการณ์เห็นว่าทางมาเลเซียมีความใกล้ชิดกับฝ่ายบีอาร์เอ็นมาก นายราฮิม นูร์ ตอบว่า มาเลเซียไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด
“เขาเหมาสรุปอะไรเอาเองก็ได้ เพราะเราไม่เพียงแต่เป็นเพื่อนบ้านติดกับสามจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น ชาวปาตานีก็คือ คนมาเลย์และไทยมุสลิมด้วย แต่เราเป็นมืออาชีพ”
“เราไม่เข้าข้างใคร เราไม่เลือกข้างฝ่ายใด” นายราฮิม นูร์ กล่าว