พลเอกประยุทธ์พบ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาว

อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์
2017.10.02
วอชิงตัน
171002-TH-whitehouse-visit-1000.jpg ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และ เมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ถ่ายภาพร่วมกับ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และ รศ. นราพร จันทร์โอชา ภรรยา ที่ระเบียงทิศใต้ของทำเนียบขาว วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560
เอเอฟพี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการพบปะหารือแนวทางในการต่อต้านการก่อการร้าย และการปรับปรุงการค้าระดับทวิภาคี ในการเยือนที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ในฐานะผู้นำรัฐบาลทหารของไทย ที่ทำเนียบขาว ในวันจันทร์นี้

พลเอกประยุทธ์ ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว ตามคำเชิญของรัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดี ทรัมป์ นับเป็นเวลาสามปี หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ได้ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

"เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากขณะนี้ ... และเริ่มดีขึ้นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา" นายทรัมป์ กล่าวแก่ พลเอกประยุทธ์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกา และความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศที่มีมาร่วม 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2361

"ความสัมพันธ์ทางการค้าของเรากำลังมีความสำคัญ และเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ และเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการทำการค้าด้วย" นายทรัมป์ กล่าว "เราคิดว่าเราจะพยายามขายเพิ่มอีกเล็กน้อยให้ไทย"

การเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ภายในประเทศและระหว่างประเทศแก่พลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่วันหลังจาก ศาลอาญาพิพากษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่ได้มาฟังคำตัดสิน โดยตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี จากความผิดคดีละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

แต่การเยือนของพลเอกประยุทธ์ เพื่อพบปะกับนายทรัมป์ ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญในการต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหารของไทยที่หายากมาก ในกรุงวอชิงตัน หากการเยือนได้มีขึ้นในขณะที่ในสหรัฐฯ เพิ่งมีเหตุการณ์ร้ายแรง โดยมือปืนยิงกราดผู้บริสุทธิ์ ในเมืองลาสเวกัส นับเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่มีผู้สูญเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า มีคนถูกสังหารอย่างน้อย 58 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 500 ราย ทำให้การประชุมระหว่างผู้นำทั้งสองเกิดขึ้น ขณะที่ชาวอเมริกันกำลังสนใจอยู่กับเหตุการณ์อันเลวร้ายนั้น รวมทั้งความหายนะจากพายุเฮอร์ริเคน ในเปอร์โตริโก

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวผ่านล่าม แสดงความเสียใจ ต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทั้งสองของชาวอเมริกัน

"แน่นอน ประเทศไทยขอถือโอกาสนี้ แสดงความเสียใจต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและครอบครัว ในเหตุการณ์การกราดยิงที่เมืองลาสเวกัส เมื่อคืนนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว "และผมต้องการที่จะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเรากับคนอเมริกัน"

"นอกจากนี้ผมยังอยากจะแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา ในสหรัฐฯ และ ในเปอร์โตริโก ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และเพิ่มเติมว่า ภาครัฐและเอกชนของไทยได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือบรรเทาวิกฤติภัยครั้งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า เขาคาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านทวิภาคี ผู้นำทั้งสองคนนั่งเคียงข้างกันในเก้าอี้โทนสีทอง ขณะที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เมลาเนีย ทรัมป์ และนางนราพร ภรรยา พล.อ.ประยุทธ์ นั่งบนเก้าอี้โซฟาหันหน้าหากัน ตามเอกสารบันทึกเหตุการณ์ ที่ออกโดยทำเนียบขาว

ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าให้ไทยเป็นมูลค่าประมาณ 19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ และสหรัฐอเมริกาได้นำเข้าสินค้าจากไทย เป็นอันดับสาม รองจากจีนและญี่ปุ่น

ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้เริ่มก่อตั้งความสัมพันธ์เมื่อปี พ.ศ. 2361 และได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางการทูต หลังจากลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ. 2333 ตามบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

"เราทำงานอย่างจริงจัง เพื่อการประสานความร่วมมือในการป้องกันความมั่นคงของประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนของเราจะได้รับการปกป้องจากการก่อการร้ายและภัยคุกคามอื่น ๆ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว "เราจะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะแก้ปัญหาข้อวิตกหลายเรื่อง ในระดับภูมิภาค"

พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำความสัมพันธ์อันเก่าแก่ร่วม 200 ปี

การเปลี่ยนแปลงนโยบาย

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองอย่างน้อยหนึ่งคนมองว่า การเยือนของพล.อ.ประยุทธ์เป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของวอชิงตัน ตั้งแต่รัฐบาล นายทรัมป์เข้ามามีอำนาจ

"เป็นการสะท้อนถึงการรับรองรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับการที่สหรัฐฯ จะยอมเชิญรัฐบาลทหารให้เยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ" สุทิน วรรณบวร นักสังเกตการณ์ทางการเมือง และอดีตผู้สื่อข่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ในวันจันทร์นี้

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้มีการพบปะต้อนรับผู้นำเผด็จการจากหลายประเทศ ที่ล้วนมีประเด็นข้อกังขาในประเทศของตน ที่ทำเนียบขาว รวมถึงพล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ผู้นำกองทัพอียิปต์ ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน และผู้นำของมาเลเซีย นาจิบ ราซัค เขายังยกย่อง ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดรีโก ดูเตอร์เต ด้วย

นายทหาร ผู้นำประเทศไทยคนสุดท้าย ที่มาเยือนทำเนียบขาว ก่อนการเยือนของพลเอกประยุทธ์ในครั้งนี้ ก็คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเคยมาเยือนประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เมื่อปี พ.ศ. 2527

จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำเอเชีย ของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ผู้นำทั้งสองคาดว่าจะไม่มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เข้ามายึดอำนาจ ในปี 2557

"ความจริงทางการเมืองที่น่าเกลียดของการเยือน – ประเทศไทยถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร และรัฐบาลนายทรัมป์ก็ไม่ใส่ใจ – จะละเลยไม่พูดถึง แต่จะเอ่ยคำพูดซ้ำๆ เหมือนเดิม ในระหว่างการประชุมทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับ ไทย" นายซิฟตัน กล่าวในแถลงการณ์ที่ออกวันก่อนการมาเยือนทำเนียบขาว ของพลเอกประยุทธ์

พลเอกประยุทธ์มีกำหนดการเยือนสหรัฐอเมริกา วันที่ 2-4 ตุลาคม รวมถึงการพบปะกับผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯ และงานเลี้ยงอาหารค่ำตัอนรับ ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งจัดโดย สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน และสภาหอการค้าสหรัฐฯ กระทรวงการต่างประเทศไทยกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง