นายวิษณุ เครืองาม ย้ำจะจัดการเลือกตั้งได้ในปี 2560

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.08.08
กรุงเทพฯ
160808-TH-elections-620.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 มิ.ย. 2559
เบนาร์นิวส์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวย้ำแก่ผู้สื่อข่าว ในวันจันทร์ (8 สิงหาคม 2559) นี้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2560 ตามโรดแมปที่วางไว้

ในขั้นตอนต่อไปนั้น ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังต้องมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงในประชามติ ที่กำหนดให้วุฒิสมาชิก 250 คน สามารถร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ในการประชุมเพื่อรับรองผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงห้าปีแรก นับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดใหม่

“ถ้าสามารถกระชับพื้นที่ได้ คือ ปี 2560 ไม่สามารถตอบเป็นอย่างอื่นได้” นายวิษณุ กล่าวยืนยันแก่ผู้สื่อข่าว เมื่อถูกถามว่าจะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้เมื่อไหร่

ทางด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่สำคัญๆ ไปล่วงหน้า เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมป

ในวันนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ส่งดอกไม้แสดงความยินดีกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องผลของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่เสียงส่วนใหญ่ของผู้มาใช้สิทธิแสดงความเห็นชอบ

“นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการออกเสียงเป็นไปด้วยความโป่รงใส ต่างชาติให้การยอมรับ และต่อจากนี้ประเทศจะเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

สวนดุสิตโพลชี้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อสถานการณ์การเมืองไม่ดีขึ้น

หลังการปิดหีบออกเสียงประชามติฯ สวนดุสิตโพลของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเมืองไทย หลังการลงประชามติ จากประชาชนทั่วประเทศ 1,279 คน ที่สำรวจระหว่างวันที่ 1-6 สิงหาคม 2559 โดยชี้ว่า ประชาชนยังเชื่อว่าประเทศจะยังคงมีความขัดแย้งอยู่ แม้การประชามติฯ เสร็จสิ้นลงแล้วก็ตาม

ผลการสำเร็จเผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 55.43 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าสถานการณ์การเมืองจะเหมือนเดิม เพราะยังคงมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ และผลประโยชน์มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

ผู้ตอบแบบสอบถาม 31.75 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะได้มีการลงประชามติ ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ บ้านเมืองมีเป้าหมาย มีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

และอีก 12.82 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าสถานการณ์จะแย่ลง เพราะผลที่ออกมาอาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ไม่เห็นด้วย อาจเกิดการแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย มีการออกมาเรียกร้องหรือคัดค้าน สถานการณ์อาจรุนแรงมากขึ้น

เชื่อประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนนอก

ในการนับคะแนนในเบื้องต้น ในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผล เมื่อนับคะแนนไปได้ 94 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนบัตรประชามติทั้งหมดทั่วประเทศว่า มีผู้ออกมาใช้เสียงกว่า 27  ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ประมาณเกือบ 51 ล้านคน มีผู้รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 15,562,027 เสียง ไม่รับร่างฯ จำนวน 9,874,680 เสียง

ส่วนประเด็นคำถามเพิ่มเติมที่ถามว่า ประชาชนยอมให้วุฒิสมาชิก 250 คน สามารถร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้ยอมรับจำนวน 13,969,952 เสียง ไม่ยอมรับจำนวน 10,070,599 เสียง

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทางโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็นในวันนี้ว่า การรับรองร่างรัฐธรรมนูญอาจตีความได้ว่า ประชาชนไม่ต้องการนักการเมืองที่คอร์รัปชัน หรือหมายถึงการลงคะแนนโดยไม่ได้ทราบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด

ทางด้านนายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และแกนนำ กปปส. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวเชื่อว่า ผลประชามติฯ จะทำให้เกิดการปฎิรูปประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว เรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคประกาศจุดยืนก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า จะไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส. หรือนายกรัฐมนตรีคนนอก เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของประชาชนและคงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยเอาไว้

ภาคธุรกิจเชื่อการรับร่างรัฐธรรมนูญส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวต่อสื่อมวลชนถึงการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจ หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของประชาชน โดยเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

“ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการลงทุนคาดว่าจะดีขึ้นมากกว่าปัจจุบัน เพราะนักลงทุนหรือแม้แต่คนไทยกังวลเรื่องการที่ไทยไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้ยิ่งจะส่งผลดีต่อไทยมากขึ้น ถ้าหากไม่มีการประท้วงรุนแรง และรัฐบาลสามารถเดินหน้าได้ตามโรดแมป ก็อาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยระยะยาว โดยเฉพาะแนวโน้มการลงทุนครึ่งปีหลัง” นายเจน กล่าว

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย วิเคราะห์สภาพตลาดหุ้น หลังประกาศผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการ โดยเชื่อว่าจะทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลดีในระยะสั้น

“ในระยะสั้นจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น ส่วนภาพระยะยาวก็จะเป็นอีกมุมนึง ผมเชื่อว่าประเด็นการเมืองมีผลกระทบกับตลาดหุ้นในระยะสั้น ภาพระยะยาวจะขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทย ขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ขึ้นกับกระแสเงินสดที่จะไหลเข้าไหลออกจากประเทศไทย” นายกวีกล่าว

ทั้งนี้ ดัชนี SET index ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดการซื้อขายในวันจันทร์นี้ สูงขึ้น 23.57 จุด หรือ 1.55 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ระดับ 1542.26 จุด มูลค่าการซื้อขายกว่า 76,000 ล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง