รัฐบาลไทยปลื้มอียูฟื้นความสัมพันธ์
2017.12.12
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (12 ธันวาคม 2560) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป ( อียู) มีมติฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศไทยในทุกระดับว่า เป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาโดยตลอด พร้อมย้ำการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย
คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) ได้เผยแพร่ผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย (Council Conclusions on Thailand) ที่มีรายละเอียด 14 ข้อ ไปเมื่อตอนกลางคืนของวันที่จันท์ที่ผ่านมาว่า “คณะรัฐมนตรีฯ ตัดสินใจที่จะกลับเข้าสู่การติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกการเจรจาในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน อันรวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย”
ทั้งนี้ ทางสหภาพยุโรป ยังคงข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งตามโรดแมป ไม่เกินเดือนพฤศจิกายน ศกหน้า โดยจะใช้ประโยชน์จากการเจรจาติดต่อดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อหยิบยกประเด็นข้อกังวลต่างๆ ขึ้นมาพูดคุย
“เป็นเรื่องที่ดีกับเรา เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาโดยตลอดสามปีที่ผ่านมา ในการส่งตัวแทนไปพบปะพูดคุยกับทุกประเทศที่เราไปลงทุนกับเขา และเขามาลงทุนที่เรา โดยเฉพาะสหภาพยุโรปเพราะเป็นตลาดสำคัญ” นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานในการติดตาม สร้างความเข้าใจ และอธิบายหลักการบริหารราชการแผ่นดิน ยุทธศาสตร์ชาติ กับประเทศต่างๆ จนทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าประเทศไทย
ในขณะที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ผลการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่ผ่อนคลายของ สหภาพยุโรป ที่ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปมีการพัฒนาขึ้นไปในระดับที่ดีขึ้น จะมีการติดต่อและเดินทางแลกเปลี่ยนในระดับผู้นำทางการเมืองระหว่างกัน
“หลักใหญ่ใจความ คือ พัฒนาการทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับอียู ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง อียูมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้นในทุกระดับที่ติดต่อกันอย่างเป็นทางการ… แสดงให้เห็นว่าเราเองมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตลอดเวลา ในช่วงสามปีกว่าที่ผ่านมา ในขณะที่เราได้มีการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือระหว่างกันหลายด้าน ซึ่งสร้างความพอใจให้สหภาพยุโรป” นายดอน กล่าวกับผู้สื่อข่าว
พลเอกประยุทธ์: การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับกฎหมายลูก
สำหรับมติของคณะรัฐมนตรีสหภาพยุโรปนั้น ได้มีการเรียกร้องให้ประเทศไทยคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตย เร่งการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนุญ และจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนุญอย่างอย่างเร็วที่สุด โดยคณะรัฐมนตรีฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และขอให้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ เช่น การจำกัดการรวมกลุ่มทางการเมือง การจำกัดกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองและองค์กรภาคสังคม และยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนโดยศาลทหาร โดยให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ
“ท่าทีของ อียู ในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการตั้งเงื่อนไขกับประเทศไทย แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ อียู มีความเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งวันนี้ ไทยกำลังเดินตามโรดแมป ที่จะไปสู่การเลือกตั้งที่ได้ประกาศไว้ว่าประมาณเดือน พ.ย. 61 แต่เรื่องระยะเวลานั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณากฎหมายลูกว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเวลาใด” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว
โดยนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า ขั้นตอนการพิจารณาออกกฎหมายลูกเป็นการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสั่งการหรือเร่งรัดใดๆ ได้ และจะปลดล็อคให้พรรคการเมือง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย พร้อมย้ำด้วยว่า รัฐบาลจะดูแลให้พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่เสียเปรียบซึ่งกันและกัน
ด้านนายโคทม อารียา อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง แสดงความเห็น ว่าจะมีการเลือกตั้งได้ในปีหน้า แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
“ผมเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า เพราะผู้ที่มีอำนาจได้ทำหน้าที่ของท่านเสร็จแล้ว มีรัฐธรรมนูญ และได้ระบุการจัดการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าจะมี แต่สำคัญกว่านั้น คือต้องมีการเลือกตั้งที่แฟร์ รัฐไม่ควรใช้อำนาจสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง” นายโคทมระบุ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า รัฐบาลเดินตามโรดแมป แต่หากว่ามีเหตุอันไม่สามารถจัดการให้มีการเลือกตั้งได้ เชื่อว่าจะสามารถอธิบายให้นานาชาติเข้าใจได้
“ต่อจากนี้ไปหนึ่งปี ที่เรา(และสหภาพยุโรป) ต้องติดต่อหารือกัน มันจะทำให้อธิบายความได้ว่า มีเหตุอันใดถ้าจะไม่มีการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ทางฝ่ายเราไม่มีคำว่า “ถ้า” ก็เดินตามโรดแมปกันไป” นายดอน กล่าวเพิ่มเติม