ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมประมงอาเซียน หวังแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.08.03
กรุงเทพฯ
160803-TH-fisheries-620.jpg ตันแทนจาก 11 ชาติสมาชิกศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ที่ร่วมประชุมการทำประมงอย่างยั่งยืน ถ่ายรูปร่วมกัน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (3 สิงหาคม 2559) นี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “ความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: ต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากภูมิภาคอาเซียน

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการประมง และพัฒนาศักยภาพในการประมงในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและความมีประสิทธิภาพด้านการประมงอย่างยั่งยืน โดยชี้ว่าที่ต้องร่วมมือกันทั้งภูมิภาคเนื่องจากทั้งภูมิภาคมีทะเลที่เชื่อมต่อกัน

“เป้าหมายของเราจะนำไปสู่ความยั่งยืนของการจัดการด้านการประมงของประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนได้ เราทำงานเพียงลำพังไม่ได้... สิ่งมีชีวิต คือ สัตว์น้ำทั้งหลายมันสามารถเดินทางข้ามไปข้ามมาในทะเลได้โดยที่ไม่มีใครมาขวางกั้น การที่เราจะทำการประมงให้เกิดความยั่งยืน และไม่ให้ผิดกฎหมายจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน” นายธีรภัทรกล่าว

“การทำงานร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน เรามีเป้าหมายสูงสุดคือการทำประมงให้เกิดการยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ประชาคมโลกในภูมิภาคต่างๆ เห็นถึงความตั้งใจของเรา เราพยายามบูรณาการกับทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มที่ทำประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน” นายธีรภัทรกล่าวเพิ่มเติม

สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยที่ล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 และได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาและยืดเส้นตายให้ประเทศไทยไปจนถึงต้นปีหน้า หากอียูประเมินว่าประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ก็อาจจะให้ใบแดงที่หมายถึงการไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทย นับมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปี

ส่วนประเทศอินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบจากการเป็นแหล่งปลายทางของการใช้แรงงานทาสในภาคการประมง ในขณะที่ประเทศไทยเองเป็นทั้งทางผ่านและมีการใช้แรงงานทาสเช่นกัน จนกระทั่งอียูได้มอบโจทย์เพิ่มให้ไทยแก้ปัญหาเรื่องการใช้แรงงานทาส นอกเหนือจากปัญหาไอยูยูพื้นฐานอีกด้วย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า ประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประมงต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเรือประมงที่ผิดกฎหมาย โดยพยายามผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเรือประมงให้ถูกต้อง และควบคุมเรือประมงสัญชาติไทยไม่ให้เกิดปัญหาล้ำน่านน้ำต่างชาติ

“กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นประเทศที่มีทะเลติดต่อกัน ต้องมีการบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน เท่าที่รู้ตอนนี้ ไม่มีเรือเราเข้าไปน่านน้ำต่างชาติเลย สำหรับตัวผู้ประกอบการ เรือไปถือธงประเทศอื่น ก็เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลถ้าเกิดการทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าเรือถือธงไทยเป็นความรับผิดชอบของรัฐ” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลจากกรมเจ้าท่าว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเรือที่ขอขึ้นทะเบียนทำประมงและได้รับใบอนุญาตทำประมง 11,227 ลำ และที่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำประมง (มีทะเบียนเรือถูกต้องแต่ทำประมงไม่ได้) 2,180 ลำ ในจำนวนนั้น มีเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำประมงนอกน่านน้ำไทย 73 ลำ แต่ในทางปฏิบัติ มีเรือที่เดินทางไปทำประมงนอกน่านไทยจริงๆ จำนวนน้อยมาก

นายคมม์ ศิลปาจารย์ เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) เผยว่า ที่ผ่านมาประเทศสมาชิก 11 ประเทศ (10 ประเทศอาเซียน และประเทศญี่ปุ่น) มีความต้องการที่จะแก้ปัญหา IUU Fishing จึงได้มีการจัดประชุมในวันนี้ขึ้น โดยผลการประชุมจะได้นำเสนอต่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐมนตรีอาเซียน

“ผลสำเร็จจากการประชุมในวันนี้จะถูกส่งผ่านไปที่อาเซียน จะถูกส่งผ่านเข้าไปถึงระดับรัฐมนตรีอาเซียนในที่สุด เพราะฉะนั้น การดำเนินการในวันนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงถึงความมุ่งมั่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะแก้ปัญหา IUU Fishing” นายคมม์กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง